ครม.เห็นชอบ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ตรวจสอบลูกค้า ตัดวงจร ผู้ก่อการร้ายฟอกเงิน ยกระดับปปง. เทียบเท่าสากล
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสอบลูกค้า ตัดช่องทางการฟอกเงินและการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ยกระดับมาตรฐานการทำงานสำนักงานป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เทียบเท่าสากล ตามที่สำนักงาน ปปง. เสนอ
โดยร่างกฎกระทรวงฯฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของปปง.ให้เสมอกับมาตรฐานสากล เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ให้สอดคล้องมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย มาตรฐานสากลด้านAML/CFT ผลปรากฏว่าประเทศไทยยังมี 17 ประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น
1. ข้อกำหนดเกี่ยวกับความเสี่ยงและมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ใช้บังคับกับสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
2. ข้อกำหนดที่ให้สถาบันการเงินดำเนินการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเข้มข้นสำหรับลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง ยังไม่ได้รวมถึงการกำหนดให้ต้องดำเนินมาตรการเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของความมั่งคั่งของลูกค้า
3. ยังไม่มีข้อกำหนดห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมหากสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สาระของร่างกฎกระทรวงมีประเด็นสำคัญ อาทิ การกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เช่น ผู้ค้าอัญมณี ผู้ค้าหรือเช่าซื้อรถยนต์ นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์) ต้องดำเนินการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และ การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย และ การแพร่ขยายอาวุธ หากตรวจสอบข้อมูลแล้วพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินฯ สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องไม่ทำธุรกรรมกับลูกค้าดังกล่าว และรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน ปปง.
มากไปกว่านั้น กรณีที่มีการให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป สถาบันการเงินผู้สั่งคำสั่งโอนและสถาบันการเงินผู้รับคำสั่งโอน ต้องดำเนินการส่งและรับข้อมูลของผู้โอน และ ผู้รับโอนพร้อมคำสั่งโอนเงิน โดยคำสั่งโอนเงินต้องมีข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน