ต้นปีที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ออกแถลงการณ์พิเศษเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจทำให้เกิดโรคลมชัก หลังมีรายงานการเกิดอาการชักหลังจากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาที่ FDA มากถึง 35 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน
สก็อต ก็อตตลิเอบ ผอ. FDA ชี้ว่า อาการของโรคลมชักเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากพิษของนิโคติน ซึ่ง FDA กำลังทำการสอบสวนว่าการเกิดโรคลมชักในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับสัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร และได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันส่งข้อมูลอันตรายที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาให้กับทาง FDA เนื่องจากคาดว่าจำนวนที่รายงานเข้ามาน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และว่า สารเคมีอันตรายหลายชนิดที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นชนิดเดียวกับที่พบในบุหรี่มวน
ขณะที่ แมทธิว เมเยอร์ (Matthew L Myers) ประธานโครงการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในเด็ก หรือ Campaign for Tobacco-Free Kids ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันปกป้องเยาวชนจากภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเน้นให้ทุกประเทศมีการตรวจสอบความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมในหมู่เยาวชน และทำให้เยาวชนเสพติดสารนิโคตินที่มีปริมาณสูง โดยยกตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน ว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1 หลอดมีปริมาณนิโคตินสูงเท่ากับบุหรี่ 20 มวน!!
“ขณะนี้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังใช้กลยุทธ์ที่บริษัทบุหรี่เคยใช้เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชนให้เสพติด เช่น การใช้ดาราที่มีอิทธิพลกับวัยรุ่น การให้สปอนเซอร์จัดงานคอนเสิร์ตหรือแข่งกีฬา รวมทั้งการใช้กลิ่นสีรสชาติที่ดึงดูด” เมเยอร์บอก
ด้าน ศาสตราจารย์ Kefah Mokbel ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านมชั้นนำจากสถาบันโรคเต้านมแห่งลอนดอน London Breast Institute ออกมาเตือนว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นหญิงอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งเต้านม ในภายหลัง โดย Mokbel ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขและรัฐมนตรีการศึกษาให้ประกาศแนวปฏิบัติถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากพบว่า สารพิษในบุหรี่ไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วัยรุ่น จากการตรวจพบสารเคมีที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศ รวมทั้งรายงานใหม่ที่พบโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็งหลายชนิดในไอบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกโดย ดร.วีรา ลิวซ่า ดา คอสตา เลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ได้ออกมาเตือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทบุหรี่นำมาแต่งตัวใหม่ โดยพุ่งเป้าหมายไปที่เยาวชน โดยพยายามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดอันตรายจากบุหรี่ แต่จริงๆแล้วกลับทำอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ด้วยการนำพาพวกเขาไปสู่สารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูงที่สุด คือ นิโคติน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศตระหนักถึงอันตรายของเรื่องนี้และได้ดำเนินการออกมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ฮ่องกง อินเดีย และเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
สำหรับส่วนผสมที่พบมากในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ซึ่งบรรจุอยู่ในตลับเก็บน้ำยาเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการทำความร้อนก่อนกลายเป็นไอที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูบเข้าไปในปอดนั้น พบว่า มีส่วนผสมทั้ง นิโคติน (Nicotine) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) กลีเซอรีน (Glycerine) สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) เช่น ไดอะซิติล (Diacetyl) ที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาระบบทางเดินหายใจและปอด นอกจากนี้ ยังพบ สารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย
นักวิจัยโรงเรียนสาธารณสุข Johns Hopkins Bloomberg สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า ในน้ำยา E–Liquid หรือ E–Juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า มีโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส โครเมียม แคดเมียม และสารพิษที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในระดับสูง เช่นเดียวกับงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทดลองในห้องปฏิบัติการและพบว่า 85% ในไอหรือหมอกจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่ไปทำลายเซลล์ในปาก โดยเฉพาะในผิวชั้นบนสุด รวมไปถึงเหงือกและฟัน
ล่าสุด มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงระบบการทำงานของเซลล์ในปอดที่ลดลง เนื่องจากมาตรฐานการผลิตน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตเดียวกันกับที่องค์การอาหารและยา (FDA) กำหนดอันตรายที่อาจเป็นไปได้อีกข้อคือ นิโคตินเหลวในบรรจุภัณฑ์หากเก็บรักษาไม่ถูกต้องหรือเก็บไว้นานอาจมีเชื้อราหรือเชื้อโรคก่อตัวขึ้น ทำให้ผู้สูบได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในขณะใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่อาจเริ่มต้นทดลองด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เสพติดนิโคตินเหลว และอาจนำไปสู่การสูบบุหรี่ปกติทั่วไปในอนาคตได้.