นิ่วทอนซิล หรือ ขี้ไคลทอนซิล ทุกคนต้องเคยเจอแน่ ๆ ก็ก้อนสีเหลือง ๆ เหม็น ๆ ที่หลุดออกมาจากคอไงล่ะ ว่าแต่เกิดจากอะไรนะ แล้วจะป้องกันได้ไหม คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว
ก่อนอื่นเรามารู้จัก ทอนซิล" กันก่อน สำหรับ ทอนซิล (Tonsils) คือ ต่อมน้ำเหลืองในทางเดินหายใจ มีหลายตำแหน่ง ได้แก่ สองข้างของลิ้น (palatine tonsil), ด้านหลังจมูก (nasopharyngeal tonsil adenoid), ผนังคอด้านหลัง และโคนลิ้น
ทอนซิลเป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ทำงานโดยการจับเชื้อโรคมาไว้ในหลืบ (Crypt) ที่ด้านข้างของคอ ซึ่งบริเวณนี้อาจมีเศษอาหารเข้าไปติดหรือตกค้างได้ นอกจากนั้นเซลล์ที่ตายแล้วอาจหลุดลอกออกมา แล้วทำให้แบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว และเอนไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลายเกิดเป็นสารคล้ายเนยสีเหลืองขาวสะสมอยู่ ในบางคนอาจมีสารแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล เรียกว่า ขี้ทอนซิน หรือภาษาทางการแพทย์คือ ทอนซิลโลลิท (Tonsillolith) ทั้งนี้ อาจเรียกได้ว่า นิ่วทอนซิน หรือ Tonsil Stone
และเจ้าขี้ทอนซิลนี่แหละที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญกับช่องปาก รู้สึกคล้ายมีอะไรติด ๆ อยู่ในลำคอ ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้มีกลิ่นปาก และทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่หู หรือไอเรื้อรังได้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งปัญหาดังกล่าวพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
อาการต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มีกลิ่นปาก ก็อาจเกิดจากเศษอาหารซึ่งตกตะกอนกับแคลเซียมในน้ำลาย แล้วไปฝังอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิลก็เป็นได้ ถ้าเป็นบ่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอประจำ
สำหรับต่อมทอนซิลที่อักเสบเรื้อรังถ้าต่อมโตไม่มาก ไม่มีอาการของการอุดตันการหายใจ เช่น นอนกรน นอนหายใจเสียงดัง หรือกลืนลำบาก ก็ยังไม่ต้องผ่าตัดทอนซิล อาจรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งคลุมเชื้อชนิด ANAEROBE BACTERIA เป็นแบคทีเรียที่ก่อกลิ่นเหม็นต่าง ๆ
แต่ถ้าต่อมทอนซิลโตมาก ๆ และมีอาการอุดตันในลำคอ เช่น นอนกรน หายใจดัง กลืนลำบาก มีประวัติเจ็บคอบ่อย ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดทอนซิลทั้ง 2 ข้าง
การรักษา
การรักษามี 2 วิธี คือ ไม่ผ่าตัดและผ่าตัด
1. ไม่ผ่าตัด อาจหาวิธีป้องกันหรือแก้ไข ได้แก่
- การกลั้วคอแรง ๆ หลังรับประทานอาหารด้วยน้ำยากลั้วคอ, น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าธรรมดา
- ใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง (ซึ่งตรงกับบริเวณต่อมทอนซิล) เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา
- การใช้ไม้พันสำลี (Cotton bud), ปลายของที่หนีบผม, เครื่องมือที่ใช้เขี่ยขี้หูออก (ear curette), แปรงสีฟัน เขี่ย หรือกดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอาก้อนดังกล่าวออก
- ใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก ฟัน และลิ้น (water pick) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออก
- ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในช่องปาก แล้วกดบริเวณส่วนล่างของต่อมทอนซิล แล้วดันขึ้นบน หรือใช้ลิ้นดัน เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา
- แต่ถ้าเป็นเยอะ แล้วไม่สามารถล้วงเอาออกมาได้ ก็ต้องไปให้คุณหมอช่วยเอาออกให้
2. ผ่าตัด ได้แก่
- ใช้กรด Trichloroacetic acid หรือเลเซอร์ (Laser tonsillotomy) จี้ต่อมทอนซิลเพื่อเปิดขอบร่องของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้เป็นซอกหลืบ ที่จะเป็นที่สะสมของสิ่งต่าง ๆ ได้อีก ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่
- ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (Tonsillectomy) เป็นการรักษาที่หายขาด มักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล หรือต่อมทอนซิลอักเสบมาก ๆ
การป้องกัน
- ควรจะหลีกเลี่ยง หรือลดอาหารประเภทโปรตีน แป้ง เพื่อลดปริมาณเศษอาหารที่จะไปตกตะกอนกับน้ำลาย
- พยายามแปรงฟันและลิ้นให้สะอาด โดยต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหลังอาหารประมาณ 30 นาที
- ถ้าเป็นไปได้ควรกลั้วคอทุกครั้งหลังแปรงฟันด้วย อาจใช้น้ำเปล่า หรือน้ำเกลือก็ได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย