การกั๊กที่จอดรถริมถนนอาจดูเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สามารถพบเห็นได้บ่อย ทั้งร้านค้า บ้านเรือน มีการนำป้ายหรือการวางของกั๊กที่จอดรถบนถนนไว้ เพื่อกันรถให้กับลูกค้า รวมถึงรถของตนเอง ในกรณีเป็นจุดที่สามารถจอดรถได้ โดยการกระทำในลักษณะนี้ในทางกฎหมายถือว่าผิด ผู้พบเห็นสามารถแจ้งจับได้ พร้อมรับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของค่าปรับ
ไม่ว่าในโลกความเป็นจริงการบังคับใช้กฎหมายจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนนั้นอาจเป็นประเด็นคาใจ แต่ก่อนอื่นเราลองมาดูข้อกฎหมายในส่วนของการกั๊กที่จอดรถว่ากำหนดไว้อย่างไรดีกว่า
ซึ่งการกั๊กที่จอดรถถือเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19 กล่าวคือ “ห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน เว้นแต่เป็นการกระทำในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร”
โดยคำว่าง "ถนน" ตาม พ.ร.บ. นี้ ที่ครอบคลุมถึงการกั๊กที่จอดรถ หมายความถึง ทางเดินรถ ทางเท้า ขอบทาง ไหล่ทางทางข้ามตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ตรอก ซอย สะพาน หรือ “ถนนส่วนบุคคล” ซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้
ภาพจาก shutterstocks.com denys davydenko
โทษปรับสูงสุดของการกั๊กที่จอดรถ 10,000 บาท ผู้แจ้งได้รับส่วนแบ่งจากค่าปรับครึ่งหนึ่ง
การกั๊กที่จอดรถด้วยการวางป้ายหรือสิ่งของ (ตามมาตรา 19) ซึ่งก็คือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท (ก็แล้วแต่เจ้าหน้าที่ แต่ปรับได้ไม่เกิน 10,000 บาท) ตามบทกำหนดโทษ มาตรา 57 ของ พ.ร.บ. นี้ นอกจากนี้ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของค่าปรับ ตามมาตรา 48
เมื่อพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากการกั๊กที่จอดรถอย่างไม่ถูกต้อง อยากแจ้งแต่ไม่รู้ว่าจะแจ้งที่ไหน นอกเหนือจากตำรวจแล้ว มีช่องทางให้เลือกแจ้งได้มากมาย ดังนี้
อย่างไรก็ตาม "กฎหมาย" รวมถึง "พระราชบัญญัติ" และ "บทลงโทษ" เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ถูกกำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงยังมีกระบวนการอื่น ๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย อันหมายถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมด้วย ดังนั้นเครื่องมือถ้าไม่ถูกหยิบใช้อย่างถูกต้องก็ไร้ประโยชน์
แต่เหนือสิ่งอื่นใด "สามัญสำนึก" ของเราทุกคนคือส่วนที่ "สำคัญที่สุด" เพราะถ้าทุกคนเคารพกฎ เคารพสิทธิ์ โดยไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นปัญหาย่อมไม่เกิด แต่เมื่อไรที่ “สามัญสำนึก” ยังเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากแล้วเราจะไปคาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจมันก็ยากอีกเช่นกัน
กลับมาสู่โลกของความเป็นจริง "การกั๊กที่จอดรถ" นั้นอาจไม่ได้จบสวยงามอย่างที่ควรเป็นและยังพบเห็นได้ทั่วไป แม้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง จะเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน พ.ศ. 2562 นับนิ้วแล้วก็ 27 ปี...ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย แต่ปัญหาการกั๊กที่จอดรถนั้นยังเป็นอะไรที่ทันสมัยอยู่เสมอจริง ๆ