ผศ. พญ. สุธินี รัตนิน จากสาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า “ถึงแม้มะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี หรือเมลาโนมา (Melanoma) จะเป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่สุด ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นที่มีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดสีที่สามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีได้ และพบการเกิดของมะเร็งชนิดนี้ในประเทศไทยมากถึง 500 รายต่อปี”
ไฝและมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีนั้นบางครั้งแยกออกจากกันได้ยากโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดสีระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยหลายคนเผลอมองข้ามไม่ทันระวัง และปล่อยให้ลุกลามจนเป็นอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรหมั่นตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอ ซึ่งการตรวจสอบด้วยตนเองว่าไฝที่มีอยู่เป็นไฝปกติหรือเป็นอาการของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี หรือมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นๆ สามารถทำได้โดยการสังเกตการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ เช่น ไฝโตเร็วกว่าปกติ สีเปลี่ยนแปลง มีเลือดออก หรือเป็นแผลเรื้อรังรักษาไม่หาย พิจารณาประกอบกับประวัติโรคมะเร็งผิวหนังของคนในครอบครัว การมีไฝเป็นจำนวนมาก หรือเคยถูกแสงแดดไหม้บ่อยครั้งในวัยเด็ก ทั้งนี้การตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อดูลักษณะของไฝว่าผิดปกติหรือไม่ สามารถทำได้โดยสังเกตว่าไฝมีรูปร่างสมมาตรหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง ขอบเขต สี และขนาดของไฝ ซึ่งเป็นหลักง่ายๆ ที่เรียกว่า ABCDE ดังนี้:
A – Asymmetry คือลักษณะที่ไฝมีรูปร่างไม่สมมาตร
B – Border Irregularity คือลักษณะที่ไฝมีเส้นขอบไม่เรียบ
C – Color Variation คือการที่ไฝมีสีไม่สม่ำเสมอตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป
D – Diameter ไฝที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี มักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 6 มม.
E- Evolution มีการเปลี่ยนแปลงของไฝอย่างรวดเร็ว เช่น โตขึ้น แตกเป็นแผล เป็นต้น
ตัวอย่างภาพที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างไฝและมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี
ไฝปกติ
มะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี
หากตรวจสอบด้วยตนเองแล้วสงสัยว่าอาจเข้าข่ายอาการของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี แนะนำให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อทางผิวหนังส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Skin Biopsy) เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ยืนยันได้ดีที่สุด
“อาการเริ่มแรกของมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีจะมีลักษณะคล้ายไฝ แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาด สี รูปร่าง และขอบเขตอย่างรวดเร็ว มีการแตกเป็นแผล และสามารถลุกลามแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก และสมอง” นพ. ธัช อธิวิทวัส จากหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสี ได้แก่ การสัมผัสกับแสง UV บ่อยๆ หรือการทำงานกลางแสงแดด เชื้อชาติ โดยคนผิวขาวและผมสีบลอนด์จะมีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อยทำให้ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสง UV น้อยกว่าคนผิวคล้ำ การเข้ารับการรักษาด้วยรังสีบำบัดและการมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
สำหรับการรักษานั้น ในระยะเริ่มต้นแพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดผิวหนังบริเวณที่มีก้อนร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองในบริเวณข้างเคียง ซึ่งจะดำเนินการโดยศัลยแพทย์ตกแต่ง แต่เนื่องจากมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ง่ายและมีโอกาสแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ แพทย์จึงอาจใช้การฉายรังสีหรือให้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) หรือยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
สำหรับการรักษาในผู้ป่วยระยะลุกลาม แพทย์ยังสามารถเลือกใช้ยาทั้งสองชนิดดังกล่าว คือ ยารักษาที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือยารักษาแบบมุ่งเป้าในการรักษาได้เช่นกัน โดยยาทั้งสองกลุ่มนี้มีข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ว่ามีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายาเคมีบำบัดและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่การรักษาด้วยยาทั้งสองกลุ่มนี้อาจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสี UV และไปพบแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติของผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางรักษาและป้องกัน ที่สำคัญอย่ามองข้ามความเคยชินหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หมั่นตรวจเช็กและดูแลตนเองอยู่เสมอ เพื่อรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง