จากกรณีที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) บรรยายพิเศษเรื่อง แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง ช่วงหนึ่งกล่าวตั้งคำถามว่า สังคมจะเชื่อนักธุรกิจ ที่ชีวิตเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง ชีวิตไม่เคยลำบากเหมือน ฮ่องเต้ซินโดรม นั้น
สำหรับ ฮ่องเต้ซินโดรม (Little emperor syndrome) ได้รับการอธิบายในวิกิพีเดีย มีใจความสำคัญว่า มาจากพฤติกรรมของการเลี้ยงดูลูกในประเทศจีน ที่มีนโยบายลูกคนเดียว จำกัดให้มีบุตรบ้านละ 1 คน ส่งผลให้เด็กนั้นได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และครอบครัวอย่างตามอกตามใจมากเกินไป พ่อแม่หาทุกอย่างมาให้ลูกเพื่อทดแทนในสิ่งที่ตัวเองสูญเสียไป มีผลข้างเคียงให้เด็กมีความเอาแต่ใจ ไม่สามารถรับมือกับความผิดหวัง ไม่มีความอดทนและระเบียบวินัย
สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกมองว่าอาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง ซึ่งนักข่าวชาวอังกฤษท่านหนึ่ง นิยามว่า สิ่งนี้อาจทำให้เกิดสังคมจีนสมัยใหม่ในรูปแบบที่คาดไม่ถึง เปรียบเสมือน พฤติกรรมที่เป็นระเบิดเวลา
ในทางสังคมเศรษฐกิจนั้น ในตอนนี้ ผู้หญิงเองต้องออกมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น และทำให้ครอบครัวมีรายได้เข้ามาทั้งจากฝั่งของผู้หญิงและผู้ชาย แต่เมื่อมีลูกเพียงคนเดียว ทำให้ทั้งพ่อและแม่ ต่างเอาเงินไปให้ลูกหมด ตั้งแต่เสื้อผ้าถึงของเล่นต่าง เพื่อให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดกลับไป โดยรายได้ส่วนใหญ่ของครอบครัว จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อลูกทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพ่อแม่ทุ่มเงินที่หามาได้ไปกับลูก ความคาดหวังต่าง ๆ จึงตามมา พ่อแม่หลายคน อาจจะเคยผ่านยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรมมาก่อน และขาดโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต จนเป็นผลให้ตั้งความหวังไว้ที่ลูกจนสูงเกินไป ด้วยการส่งให้ลูกเรียนหนังสือและแข่งขันกันสอบตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ๆ แต่เด็กเองจะขาดทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น เด็กจะสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นภาษาอังกฤษ หรืออ่านหนังสือพิมพ์จีนแบบอักษรโบราณได้ตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ในขณะเดียวกัน เด็กยังต้องพึ่งพ่อแม่ให้คอยมัดผม เช็ดก้น ผูกเชือกรองเท้าให้