ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ โอกาสหายสูง
ผศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ความสำคัญเพราะมะเร็งเต้านมในระยะแรกไม่มีอาการ การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจะทำให้สามารถพบความผิดปกติในระยะแรกได้ การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมเป็นเทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายกับการตรวจเอกซเรย์ แต่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป 30-60% มีประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดสูง สามารถเห็นจุดหินปูนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติขนาดเล็ก ทำให้สามารถระบุตำแหน่งและค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น
การตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมเป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ซึ่งสามารถบอกความแตกต่างขององค์ประกอบเนื้อเยื่อได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ หากพบว่าเป็นก้อนเนื้อ อัลตร้าซาวด์จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีความเสี่ยงหรือความน่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ และช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติของเต้านมในผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่นได้ แต่อย่างไรก็ตามอัลตร้าซาวด์จะไม่สามารถตรวจพบหินปูนได้
ดังนั้นการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมควบคู่กันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก นำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไปนอกจากนี้ หากมีการตรวจพบในระยะแรก สามารถเก็บเต้านมไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย โดยใช้วิธีทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาช่วยในการตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก โดยออกแบบบาดแผล และกะเกณฑ์ปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรง หรือบิดเบี้ยวหลังผ่าตัด
หากต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถเสริมเต้านมได้ทันที
ในบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกหมดก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันทีด้วยการใช้เต้านมเทียม หรือการใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง โดยเนื้อเยื่อที่นิยมใช้ ได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง กล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลัง ซึ่งการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ปลอดภัยมีผลแทรกซ้อนน้อย การรักษานี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนเต้านมจริงทั้งด้านรูปร่างและลักษณะ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ภายหลังตัดเต้านมออกทั้งเต้าสามารถทำในคราวเดียวกัน โดยใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 4-6 ชม. ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกนั่งบนเตียงและลุกเดินได้ และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 5-7 วัน ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้