ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ
โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นและของใช้ประเภทพลาสติกพีวีซี (PVC) ที่เด็กอาจนำมาใช้เป็นของเล่น จำนวน 51 ตัวอย่าง จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด บริเวณหน้าโรงเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต (phthalates) 6 ชนิด ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบจากผิวของเล่นที่เด็กอาจสัมผัส
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์จากตัวอย่างทั้งหมด พบปริมาณสารทาเลตเกินกว่าค่ามาตรฐานสากล 18 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 35 โดยชนิดของทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุดคือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต หรือ DEHP โดยแบ่งของเล่นที่สุ่มตรวจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
โดยเฉพาะของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้รูปสัตว์ชนิดต่างๆ พบว่ามีค่าทาเลตสูงมาก เช่น ยางบีบหมู ซึ่งตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) แรคคูณสีเหลือง ตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 36.42 และ พะยูนสีเขียว ตรวจพบปริมาณทาเลตรวม เท่ากับ 35.74 ซึ่งมาตรฐานของเล่นสหภาพยุโรปมีเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในของเล่นทั่วไปและของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ และมีส่วนที่นำเข้าปากได้ ไว้ไม่เกิน 0.1% โดยมวล
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ทาเลต ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซี เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป สามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่น เช่น มือ เมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลตมีหลายชนิด บางชนิดเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชาย
ทั้งนี้ มาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้ควบคุมสารทาเลต แต่ไทยอยู่ระหว่างร่างแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก. 685/2540 ซึ่งใช้มานานกว่า 22 ปี โดยบรรจุเรื่องการควบคุมการใช้สารทาเลตไว้ 6 ชนิด ไม่ให้เกิน 0.1% โดยมวล พร้อมกับการเตรียมห้องทดสอบไว้เพื่อตรวจเมื่อประกาศใช้ คาดว่าปลายปีนี้จะประกาศใช้ ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็ก พร้อมเสนอให้พัฒนาระบบตรวจสอบของเล่น หลังวางจำหน่ายในตลาดให้เข้มข้นขึ้น เพราะปัจจุบันการตรวจหลังวางจำหน่ายแล้วมีน้อย เน้นตรวจก่อนการวางจำหน่ายว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่มากกว่า