นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวนอีกด้วย ซึ่งอาการของลำไส้แปรปรวน ในผู้ที่ป่วยลำไส้แปรปรวนจะมีอาการไม่สบายท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในท้องมาก ปวดท้องมากหลังรับประทานอาหาร และอาการจะดีขึ้นหลังการขับถ่าย ท้องผูก ท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระแข็งหรือนิ่มกว่าปกติ อุจจาระไม่สุด อุจจาระมีเมือกใสหรือสีขาวปนออกมา อั้นอุจจาระไม่อยู่ หรืออาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หมดแรง ปวดหลัง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออาจรู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง เป็นต้น
โดยโรคลำไส้แปรปรวนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเอง หรือจากปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกติของชนิดแบคทีเรีย หรือปริมาณแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร และอาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิดในปริมาณมากๆ ก็อาจทำให้เกิดลำไส้แปรปรวนได้ รวมถึงภาวะเครียดก็อาจเป็นอีกปัจจัย ที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนมากขึ้น
การดูแลรักษาเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มันจัด เช่น หนังเป็ด หนังไก่ นม ครีม เนย น้ำนม ในปริมาณมาก ควรรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะ และผสมผสานหลายๆ หมู่อาหาร เลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณมาก ๆ เพราะจะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียได้ง่าย
อาหารที่มีกากหรือเส้นใยจะช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดี ซึ่งกากหรือเส้นใยยังช่วยดูดน้ำไว้ในอุจจาระ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและถ่ายได้ง่ายขึ้น แต่ควรกินทีละน้อยแต่กินให้บ่อยขึ้น ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ของดอง น้ำอัดลมและยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้มีอาการมากขึ้นด้วย ภาวะเครียดก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น จึงควรผ่อนคลายทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนทั้งร่างกายให้เพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้อีกส่วนหนึ่ง
ในการรักษาทำได้โดยบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง รักษาได้โดยจัดการกับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด การรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องใช้ยาในการรักษา และแนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาการของลำไส้แปรปรวนอาจเป็นอาการเบื้องต้น ที่พบได้ในโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งทางเดินอาหาร ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสืบค้นเพิ่มเติม ตามข้อบ่งชี้ต่อไป
6 เหตุผลที่เป็นไปได้ว่าทำไมคุณถึงถ่ายบ่อยกว่าปกติ