ลักษณนาม คืออะไร
ลักษณนาม คือ คำนามบอกลักษณะของคำนามข้างหน้า หรือใช้เพื่อแสดงรูปลักษณะและชนิดของสิ่งต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มักเขียนอยู่หลังจำนวนนับ อย่างเช่น จดหมาย 1 ฉบับ, แจกัน 1 ใบ, ช้อน 1 คัน หรือนำไปใช้อีกรูปแบบดังนี้ “จดหมายฉบับนี้เป็นของใคร”, “แจกันใบนี้สีสวยมาก” โดยเราสามารถจำแนกตามหมวดการใช้ได้ตามนี้
ลักษณนามบอกชนิด
★ พระพุทธเจ้า พระราชา เทวดาที่เป็นใหญ่ เจ้านายชั้นสูง ผู้ที่นับถืออย่างสูง ใช้ลักษณนามว่า พระองค์
★ ภิกษุ สามเณร นักพรต ชีปะขาว ชี ใช้ลักษณนามว่า รูป
★ พระพุทธรูป ใช้ลักษณนามว่า องค์
★ ยักษ์ ภูต ผี ปีศาจ ฤาษี ใช้ลักษณนามว่า ตน
★ คนหรือมนุษย์ทั่วไป ใช้ลักษณนามว่า คน
★ สัตว์เดียรัจฉาน หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตะปู ว่าว ตุ๊กตา ใช้ลักษณนามว่า ตัว
★ ภาชนะส่วนมาก ผลไม้บางชนิด ใบไม้ ใช้ลักษณนามว่า ใบ
★ ปี่ ขลุ่ย ใช้ลักษณนามว่า เลา
ลักษณนามบอกหมวดหมู่
★ ทัพ ทหาร คนทำงานรวมกัน ของที่รวมกันไว้ อิฐ ทราย ใช้ลักษนามว่า กอง
★ คน สัตว์ สิ่งของที่อยู่รวมกันและมีลักษณะเดียวกัน ใช้ลักษณนามว่า พวก, เหล่า
★ สัตว์ชนิดเดียวกันที่อยู่ด้วยกันจำนวนมาก ใช้ลักษณนามว่า ฝูง
★ นักบวชศาสนาเดียวกันที่แยกออกเป็นพวก ๆ ใช้ลักษณนามว่า นิกาย
★ คนกลุ่มหนึ่งที่ล้อมกัน เช่น เตะตะกร้อ เล่นดนตรี เล่นเพลง ใช้ลักษณนามว่า วง
ลักษณะนามที่บอกสัณฐาน
★ สิ่งของที่มีทรงกลม เช่น แหวน กำไล ใช้ลักษณนามว่า วง
★ สิ่งของลักษณะแบน ๆ เช่น กระดาษ กระดาน กระเบื้อง อิฐ ใช้ลักษณนามว่า แผ่น
★ สิ่งของที่มีรูปแบนกว้างใหญ่ เช่น ผ้า เสื่อ พรม ใช้ลักษณนามว่า ผืน
★ สิ่งของทึบหนามีรูปร่างยาว เช่น เหล็ก ตะกั่ว ดินสอ ใช้ลักษณนามว่า แท่ง
★ สิ่งของลักษณะกลมยาวมีปล้องคั่น เช่น ไม้ไผ่ อ้อย และเรือ ใช้ลักษณนามว่า ลำ
★ สิ่งของลักษณะเป็นเส้นเล็กยาว เช่น เชือก ด้าย ลวด ใช้ลักษณนามว่า เส้น
ลักษณนามบอกจำนวนและมาตรา
★ สิ่งของที่มีชุดละ 2 สิ่ง เช่น รองเท้า ถุงเท้า ช้อนกับส้อม เชิงเทียน ใช้ลักษณนามว่า คู่
★ จำนวนนับสิ่งของที่เท่ากับ 12 ใช้ลักษณนามว่า โหล
★ ผ้าห่อหนึ่งที่รวมกัน 20 ผืน ใช้ลักษณนามว่า กุลี
★ ชื่อมาตราต่าง ๆ เช่น กิโลเมตร, กิโลกรัม, สกุลเงินต่าง ๆ เป็นต้น
ลักษณนามบอกอาการ
★ ลักษณะการกรีดมาประกบซ้อนกัน เช่น การจีบพลู ใช้ลักษณนามว่า จีบ
★ สิ่งที่ม้วนมีและมีขนาดยาว เช่น บุหรี่ ใช้ลักษณนามว่า มวน
★ สิ่งที่ถูกรัดรวมเป็นกลุ่ม เช่น ฟืน ใช้ลักษณนามว่า มัด
ตัวอย่างคำลักษณนามที่มักใช้ผิด
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างลักษณนามที่ควรทราบ หรือลักษณนามที่มีการใช้ไม่ถูกต้องเป็นประจำ มีคำไหนที่เราเคยใช้ผิดกันบ้างหรือเปล่า ลองมาดูกัน
◆ กลอง - ใบ, ลูก
◆ กรีซ - เล่ม
◆ กระถาง - ใบ, ลูก
◆ กระดิ่ง - ใบ, ลูก
◆ กันชน - อัน
◆ ขวาน - เล่ม
◆ เข็ม - เล่ม
◆ เข็มขัด - เส้น สาย
◆ เขื่อน - เขื่อน
◆ ค้อน - เต้า, อัน
◆ เคียว - เล่ม
◆ คอมพิวเตอร์ – เครื่อง
◆ แคน - เต้า
◆ คลอง - คลอง, สาย
◆ คราด - อัน
◆ ฆ้อง - ใบ, ลูก
◆ เจดีย์ - องค์
◆ จักรเย็บผ้า – คัน, หลัง
◆ ใจ - ดวง
◆ จดหมาย - ฉบับ
◆ จอบ - เล่ม
◆ ฉัตร - คัน
◆ ฉิ่ง - คู่
◆ เช็ค - ใบ, ฉบับ
◆ ชฎา - ศีรษะ, หัว
◆ ช้อน - คัน
◆ ช้อนส้อม - คู่
◆ ชิงช้า - อัน
◆ ซอ - คัน
◆ ซึง - คัน
◆ ไซ - ลูก
◆ โซ่ - เส้น, สาย
◆ ดาว - ดวง
◆ ดาบส - องค์
◆ ดอกไม้จันทน์ - ช่อ
◆ ตรายาง - อัน
◆ ตำหนัก - หลัง
◆ ตะเกียง - ดวง
◆ ตาลปัตร - เล่ม
◆ ตะกร้า - ใบ, ลูก
◆ โถส้วม - โถ
◆ เทียน - เล่ม
◆ ทะเลทราย - แห่ง
◆ เทียนพรรษา - ต้น
◆ ทางม้าลาย - แห่ง
◆ ทางด่วน - สาย
◆ ทะเลสาบ - แห่ง
◆ ธง(กระดาษ) - ธง
◆ ธรรมจักร - วง
◆ ธนาคาร - ธนาคาร
◆ นรก - ขุม
◆ นามบัตร - แผ่น
◆ เนกไท - เส้น
◆ บัตรประจำตัว - ฉบับ
◆ บังกะโล - หลัง
◆ ปฏิทิน - แผ่น, ฉบับ
◆ เปลญวน - ปาก
◆ ปริญญาบัตร - ฉบับ
◆ ปั๊มน้ำมัน - ปั๊ม
◆ ปั๊มน้ำ - ตัว
◆ ปรอท - อัน
◆ ผ้าป่า - ต้น
◆ แผ่นภาพ - แผ่น
◆ ผ้าไตร - ไตร
◆ ไพ่ - ใบ
◆ พู่กัน - ด้าม, เล่ม
◆ พัด - เล่ม
◆ ฟัน - ซี่
◆ ฟาร์ม - ฟาร์ม
◆ ฟองอากาศ - ฟอง
◆ ฟาง - เส้น, กอง
◆ ไฟฉาย - กระบอก
◆ ไฟแช็ก - อัน
◆ ภิกษุ - รูป, องค์
◆ ภูเขา - ลูก
◆ ภัตตาคาร - แห่ง
◆ ไม้เท้า - อัน
◆ มรสุม - ลูก
◆ แม่แรง - ตัว
◆ ไม้พาย - เล่ม
◆ แม่น้ำ - สาย
◆ มณฑป - หลัง
◆ เมรุ - เมรุ
◆ ยมบาล - ตน
◆ ยุ้ง - หลัง
◆ ยางลบ - ก้อน
◆ ยางรถ - เส้น
◆ ยอ - คัน, ปาก
◆ รถ - คัน
◆ รถไฟ - ตู้, ขบวน
◆ ร่ม - คัน
◆ เรือ - ลำ
◆ ระฆัง - ใบ, ลูก
◆ เรือน - หลัง
◆ รายงาน - เรื่อง, ฉบับ
◆ เลื่อย – ปื้น
◆ เลื่อยฉลุ - คัน
◆ โลง(มีศพ) - โลง
◆ โลง(ไม่มีศพ) - ใบ ลูก
◆ เลื่อยไฟฟ้า - ตัว, เครื่อง
◆ วุฒิบัตร - ฉบับ
◆ วัด - วัด
◆ วิทยุ - เครื่อง
◆ วรรณยุกต์ - ตัว
◆ ว่าว - ตัว
◆ วงดนตรี - วง
◆ ศาลา - หลัง
◆ ศิลาฤกษ์ - แผ่น
◆ สมอเรือ - ตัว
◆ เสาอากาศ - ต้น
◆ สูตรคุณ - แม่
◆ สวิง - ปาก
◆ โหล - ใบ
◆ หมอน - ใบ, ลูก
◆ หวี - เล่ม
◆ หอก - เล่ม
◆ หอสมุด - แห่ง
◆ เหยือก - ใบ
◆ หางเสือเรือ - อัน
◆ ห้อง - ห้อง
◆ อาคารชุด - หน่วย
◆ อนุสาวรีย์ - แห่ง
◆ โอ่ง - ใบ, ลูก
◆ อ่าง - อ่าง
◆ อุโมงค์ - อุโมงค์
เป็นเอกลักษณ์และความยากด้านภาษาของไทยอีกแล้ว ดังนั้นในฐานะเจ้าของภาษา เราต้องระวังเรื่องวิธีการใช้และความแตกต่างของ ลักษณนาม กันให้ดี ๆ นะ อย่าตกหลุมพรางภาษาไทยที่ใช้อยู่ทุกวันเชียวล่ะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก