ข่าวสาร/สาระน่ารู้

News&Knowledge

ทำความเข้าใจ กองทุน SSF ตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่มาแทน LTF

1,806 view(s)
06/12/2019
รายละเอียด
ปีภาษี 2562 ถือเป็นปีสุดท้ายแล้ว สำหรับการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งกองทุน SSF (Super Savings Fund) รูปแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งนอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังช่วยให้คนออมระยะยาวขึ้น ใครอยากทราบว่า SSF มีเงื่อนไขต่างจากกองทุน LTF อย่างไร ลองมาทำความเข้าใจกัน
กองทน ssf

 

 

กองทุน SSF คืออะไร ?

          กองทุน SSF หรือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เพราะกองทุน SSF มีจุดประสงค์หลักเพื่อการออม ร่วมกับใช้ลดหย่อนภาษีของผู้มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษีในแต่ละปีนั่นเอง

กองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้เมื่อไร ?

          ใช้สิทธิ์ซื้อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 รวมระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลอีกครั้งว่าจะต่ออายุหรือไม่

กองทุน SSF ซื้อลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ?

  • กองทุน SSF ให้เราซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท  (จากเดิมกองทุน LTF สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท)
     
  • ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง
     
  • จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

กองทุน SSF ซื้อแล้วต้องถือครองนานแค่ไหน ?

  • เพื่อการออมระยะยาวขึ้น หากซื้อกองทุน SSF จะต้องถือไว้นานอย่างน้อย 10 ปี โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนด จะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี อาจจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที และต้องจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐย้อนหลังด้วย
     
  • ระยะเวลา 10 ปี จะนับจากวันที่ซื้อ เช่น ซื้อกองทุน SSF วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2573 ต่างจากกองทุน LTF เดิมที่นับตามปีปฏิทิน 
     
  • หากครบกำหนดแล้ว สามารถขายคืนได้ โดยกำไรที่ได้จากการขายคืนจะได้รับยกเว้นภาษี (หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด)

ใครได้ประโยชน์จากกองทุน SSF ?

          จากการปรับรูปแบบกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีครั้งนี้ จะทำให้คนที่ยังมีรายได้ไม่สูง หรือมีฐานภาษีต่ำถึงปานกลางได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะสามารถซื้อกองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของเงินได้พึงประเมิน 

          เช่น หากเรามีรายได้ 400,000 บาท/ปี จะซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% หรือ 60,000 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนเป็น SSF จะซื้อลดหย่อนได้สูงสุด 30% หรือ 120,000 บาท

          กลับกัน ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มีฐานภาษีสูง อาจได้รับประโยชน์น้อยลง เพราะแม้จะซื้อกองทุน SSF ได้สูงสุด 30% แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท เช่น หากเรามีรายได้ปีละ 3 ล้านบาท เดิมจะซื้อ LTF ได้สูงสุด 450,000 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนเป็น SSF จะซื้อได้สูงสุดแค่ 200,000 บาทเท่านั้น 

          นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าเมื่อนำเงินที่ซื้อ SSF ไปรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณต่าง ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ฯลฯ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย เท่ากับว่าคนที่มีรายได้สูงใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีส่วนนี้ได้น้อยลง จากเดิม LTF+RMF ใช้สิทธิ์รวมได้ 1 ล้านบาท จะกลายเป็น SSF+RMF ใช้สิทธิ์ได้เพียง 500,000 บาท

ซื้อ LTF ไว้แล้ว แต่ยังไม่ครบกำหนด ต้องขายเลยไหม ?

          ใครที่เคยซื้อ LTF แล้วยังไม่ครบกำหนดขาย หรือเพิ่งซื้อ LTF ในปี 2562 ก็ไม่จำเป็นต้องรีบขาย เพราะจะผิดเงื่อนไขภาษี ดังนั้น เราสามารถถือ LTF ต่อไปได้จนครบปีที่กำหนด

ปี 2563 ยังซื้อกองทุน LTF ได้อยู่ไหม ?

          แม้จะมีกองทุน SSF ออกมาทดแทน แต่หากใครต้องการซื้อ LTF หลังวันที่ 1 มกราคม 2563 ก็สามารถทำได้ในเงื่อนไขเดิม คือซื้อแล้วต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน แต่จะไม่สามารถนำเงินที่ซื้อ LTF ไปใช้เพื่อการลดหย่อนภาษีได้อีก 
สรุปความแตกต่างกองทุน SSF และ LTF
กองทุน ssf

 

 
          อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุน SSF และยังเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 สำหรับรายละเอียดที่แน่ชัดต้องรอประกาศกฎหมายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
Amwish live chat
Uploading...