นิ่วในถุงน้ำดี ลักษณะเป็นอย่างไร
นิ่วมีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือเหลี่ยมๆ สีเข้มๆ ซึ่งเกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) หรือคอเลสเทอรอลที่มีอยู่ในน้ำดี เป็นผลมาจากการขาดสมดุลของน้ำดี
อันตรายของนิ่วในถุงน้ำดี
หากก้อนนิ่ว (ซึ่งจะเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว หรือเป็นก้อนเล็กๆ หลายก้อนก็ได้) ไปอุดถุงน้ำดี อาจทำให้ถุงน้ำดีอักเสบ และหากมีก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ถุงน้ำดีเป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้เกิดเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้
ใครที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- ผู้หญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป รูปร่างท้วม และอาจมีบุตรหลายคน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นเบาหวาน โรคอ้วน
- ผู้ป่วยทาลัสซีเมีย โลหิตจาง
- ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง บริโภคอาหารมัน อาหารทอดมากเกินไป
- ผู้ที่ทานยาลดไขมันบางชนิด ทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
- ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกินไป ทำให้ละลายไขมันมากเกินไป
4 สัญญาณอันตราย อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี จะมีอาการปวดท้อง แน่น จุกเสียด บริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่
- ท้องอืด อิ่มง่าย อาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะหลังทานอาหารมันมาก หรือทานอาหารมื้อใหญ่
- ในรายที่เกิดอาการถุงน้ำดีอักเสบ อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน
- ในบางรายอาจมีภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
วิธีการรักษา
- นิ่วชนิดไม่มีอาการ อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ เพียงแต่เข้ามาตรวจเช็คร่างกายเรื่อยๆ หากไม่แสดงอาการเลย ก็อาจไม่ต้องทำการรักษาใดๆ ตลอดชีวิต
- นิ่วชนิดมีอาการ หากมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง แพทย์อาจสั่งยาให้ทาน หรือแนะนำให้ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับขนาดนิ่ว และความรุนแรงของอาการ โดยสมัยนี้จะใช้วิธีใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง ทำให้เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวเร็วภายใน 1-2 วัน
วิธีป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ควบคุมอาหาร ไม่ทานอาหารทอด อาหารมันมากจนเกินไป รวมไปถึงอาหารหวานจัด เช่น น้ำอัดลม อาหารกระป๋อง สำเร็จรูป และอาหารแช่แข็งด้วย
- ควบคุมน้ำหนัก และระดับน้ำตาลในเลือด และระดับคอเลสเตอรอล อย่าให้สูงจนเกินไป
- เลือกทานอาหารจำพวกแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ผักผลไม้สด ถั่ว และธัญพืชต่างๆ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ครั้งละ 20-30 นาที
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือทุกปี