ข่าวสาร/สาระน่ารู้

News&Knowledge

"พยาธิ" ในอาหาร 5 ชนิด ที่แฝงอยู่ในจานโปรดของคุณ

1,872 view(s)
13/12/2019
รายละเอียด

5 พยาธิในอาหาร ที่พบได้บ่อย

1. พยาธิใบไม้ตับ (Liver Fluke)

พบในอาหารประเภท : อาหารที่ทำจากปลา และสัตว์น้ำจืด ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : มักไม่มีอาการในระยะแรก แต่เมื่อมีพยาธิสะสมอยู่เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการ ท้องอืด แน่นท้อง เจ็บบริเวณชายโครงขวา ร้อนบริเวณหน้าท้อง หากปล่อยทิ้งไว้ จะมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ดีซ่าน ตับโต มีไข้

เมื่ออาการร้ายแรงขึ้น ผู้ป่วยจะผอมซีด บวม บางรายเป็นโรคตับแข็ง มีน้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน และอาจกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
 

2. พยาธิตัวตืด (Tapeworms)

พบในอาหารประเภท : เนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาด และมีไข่พยาธิปนเปื้อน สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นเม็ดสาคู

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : หากผู้ป่วยได้รับพยาธิตืดหมูเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนของพยาธิจะไชเข้าสู่กระแสเลือด และเติบโตเป็นถุงตัวตืด สามารถพบได้ตามกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แม้แต่กล้ามเนื้อหัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง บางครั้งอาจคลำเจอเป็นเม็ดๆ ใต้ผิวหนัง ส่วนพยาธิตืดวัว จะไม่ทำให้เกิดโรคในคน ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
 

3. พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)

พบในอาหารประเภท : ผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาด มีไข่พยาธิปนเปื้อน มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : ผู้ป่วยจะมีอาการไม่ชัดเจน หรืออาจไม่มีอาการเลย และมักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ อาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายแบบ เช่น ซีด อ่อนเพลีย ปวดบวมตามผิวหนังแบบย้ายตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หากมีพยาธิจำนวน อาจเกาะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนจนอุดตันอวัยวะต่างๆ เช่น โพรงลำไส้ ทางเดินหายใจ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
 

4. พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma Spinigerum)

พบในอาหารประเภท : เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น

 

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : ผู้ป่วยโรคพยาธิตัวจี๊ดมักไม่มีอาการรุนแรง โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ บวมตามผิวหนังเป็นก้อน บวม ๆ ยุบ ๆ และเคลื่อนที่ได้ อาการรุนแรงที่พบได้คือ พยาธิไชเข้าไปในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ตา ทำให้เกิดอาการอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
 

5. พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis)

พบในอาหารประเภท : ปลาทะเลที่ไม่สุก หรือปลาดิบ

อาการที่เกิดขึ้นหากได้รับพยาธิ : มักปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เมื่อเคลื่อนที่ไชไปในกระเพาะอาหาร และลําไส้ ซึ่งจะทําให้เกิดแผลขนาดเล็ก และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ มักมีอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาการคล้ายกับ โรคกระเพาะอาหาร อาจมีอาการท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด ถ้ามีแผลในกระเพาะอาหารขนาดใหญ่
 

วิธีหลีกเลี่ยงพยาธิจากอาหาร

• เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตดูว่ามีตัวอ่อนพยาธิ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนอยู่หรือไม่ และไม่หยิบอาหารที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปากเด็ดขาด

• หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบๆ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ

• การบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น

• หากต้องการกินผักสดแบบดิบๆ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หรือแช่ด้วยด่างทับทิมหรือน้ำส้มสายชู

• ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหาร และเมื่อกินอาหาร


ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นแค่ไหน?

หลายคนอาจระแวงว่า ในร่างกายของตัวเองอาจจะมีพยาธิอยู่ และอยากจะหายาถ่ายพยาธิมากิน แต่ความจริงแล้ว ยาถ่ายพยาธิ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย โดยเฉพาะถ้าคุณไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อาศัยในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ เช่น ชอบทานอาหารดิบๆ หรืออาหารที่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ อยู่เป็นประจำ

แต่หากมีอาการผิดปกติ ที่ทำให้สงสัยว่าอาจได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น มีอาการ ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ หรืออาการคันที่ก้น (เนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบๆ ทวารหนักตอนกลางคืน) ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิที่ได้รับ เพราะพยาธิบางชนิด ต้องใช้ยาถ่ายพยาธิแบบเฉพาะ จึงจะสามารถกำจัดออกมาได้

Amwish live chat
Uploading...