อายุอานามก็ยังไม่มาก แต่กลับมีอาการขี้หลงขี้ลืมจนโดนล้อบ่อย ๆ ว่าสมองเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์ก่อนวัย เพราะไหนจะลืมว่าจอดรถอยู่ตรงไหน ลืมของก็บ่อยมาก ๆ เอ๊...ขี้ลืมแบบนี้เป็นอาการของคนสติมีน้อย หรือจะเข้าข่ายอาการสมองเสื่อม อาการอัลไซเมอร์ไหม คนขี้ลืมรีบมาเช็กเลยว่าอาการขี้ลืมต่างกับอัลไซเมอร์อย่างไร แบบไหนที่อาจกลายเป็นสมองเสื่อม !
สมองเสื่อม-อัลไซเมอร์ มาทำความเข้าใจกันก่อน
โรคสมองเสื่อมเป็นภาวะความเสื่อมของการทำงานของสมอง ส่งผลให้ความสามารถทางสติปัญญาลดลง ความคิด ความจำด้อยประสิทธิภาพ รวมไปถึงความสามารถในการใช้ภาษาผิดปกติ และมีพฤติกรรม อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
โรคสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่โรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคอัลไซเมอร์ กล่าวคือโรคอัลไซเมอร์ก็จัดเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งนั่นเอง ซึ่งอัลไซเมอร์หรืออาการสมองเสื่อมจะพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนสาเหตุของโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ ทว่าหากตรวจโดยละเอียดแล้วจะพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในสมอง จนทำให้สมองทำหน้าที่ลดลงและเหี่ยวไป
ทั้งนี้ในทางการแพทย์ หากอายุไม่ถึง 60 ปี จะไม่เรียกว่ามีภาวะสมองเสื่อม แต่อาจมีโรคความจำผิดปกติชั่วขณะ อันเนื่องมาจากสมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ความทรงจำหายไปในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ความทรงจำเรื่องอื่น ๆ ยังคงเป็นปกติ จะมีก็เพียงความทรงจำบางส่วนเท่านั้นที่หลงลืมไป ซึ่งถ้าวินิจฉัยกันอย่างละเอียดแล้วจะสามารถแยกอาการหลงลืมที่เป็นได้ เอาเป็นว่าเรามาเช็กอาการขี้ลืม VS อาการอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมกันดีกว่า
ขี้ลืมเท่านั้น หรือว่าฉันสมองเสื่อม !
อาการอัลไซเมอร์หรืออาการสมองเสื่อมสามารถสังเกตได้ ดังนี้
- หลงลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เช่น ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดกันไป ลืมเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในชีวิต แต่สามารถจดจำเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี
- ถามคำถามซ้ำ ๆ ทั้งที่เพิ่งถามไป และอาการนี้มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ
- มีปัญหาในการพูดหรือเขียน เช่น นึกคำที่จะพูดไม่ออก มักมีอาการหยุดพูดไปดื้อ ๆ หรือสะกดคำที่ง่าย ๆ ไม่ได้ เป็นต้น
- ลืมของบ่อย วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เก็บรีโมตไว้ในตู้เย็น เก็บอาหารไว้ในตู้เสื้อผ้า และมักจะหาของไม่เจอ
- สับสนเรื่องเวลา สถานที่ เช่น กลับบ้านไม่ถูก หลงทางในเส้นทางเดิม ๆ ที่เคยใช้เป็นประจำทุกวัน หรือ กินข้าวผิดเวลา เป็นต้น
- ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เลิกทำงานอดิเรกที่ชอบทำเป็นประจำ
- จำคนใกล้ตัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
- มีปัญหาในการนับตัวเลข ทอนเงิน หรือการใช้โทรศัพท์
- สูญเสียการตัดสินใจที่ถูกต้อง เช่น ต้องออกไปข้างนอก แต่ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่แต่งตัวให้ดี และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องเหมาะสมแล้ว
- ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ เช่น อาบน้ำ-แต่งตัว ไม่ได้ เปลี่ยนช่องทีวีไม่ได้ เพราะจำไม่ได้ว่าต้องทำยังไง เป็นต้น
- เข้าใจอะไรยากขึ้น อย่างอ่านหนังสือไม่เข้าใจ บอกสีต่าง ๆ ยากขึ้น หรือกะระยะทางผิดพลาดบ่อยขึ้น เช่น จะวางของบนโต๊ะก็ปล่อยของลงก่อนถึงโต๊ะ
- มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม จู่ ๆ ก็ไม่อยากไปพบปะเพื่อนฝูง
- อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนไป โดยอาจจะวิตกกังวลมากขึ้น หวาดกลัวง่ายขึ้น หรือมีพฤติกรรมสับสนไปจากเดิมมาก ๆ
แต่สำหรับคนที่มีอาการหลงลืมเพียงชั่วขณะ แต่ภายหลังก็สามารถจดจำได้ เช่น วางของไว้ผิดที่แล้วหาของไม่เจอ จำไม่ได้ว่าเอาไปวางตรงไหน แต่สุดท้ายก็สามารถเรียกความทรงจำกลับมาได้ ค้นหาของเจอในที่สุด หรือลืมอะไรแป๊บ ๆ แต่สุดท้ายก็จำได้ หรือลืมเมื่อต้องทำหลายสิ่งพร้อมกัน ต้องคอยจดโน้ตไว้ แบบนี้ถึงจะเป็นบ่อย ๆ ก็ไม่ได้เข้าข่ายโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์นะคะ
เพราะสำหรับคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ถ้าลืมอะไรแล้วมักจะลืมเลย อาจไม่สามารถจดจำและตรวจดูสิ่งที่บันทึกในโน้ตหรือปฏิทินได้ แถมอาการยังจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้าใครอยากเช็กให้ชัวร์ ๆ ว่าอาการขี้ลืมของเราไม่ได้เสี่ยงอาการสมองเสื่อมจริง ๆ ก็ลองไปตรวจสุขภาพกันได้ เพราะตามหลักการแพทย์ก็มีวิธีวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์อยู่เหมือนกัน
อัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม วินิจฉัยยังไง
หากสงสัยว่ามีภาวะโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมหรือไม่ ก็สามารถให้แพทย์วินิจฉัยอาการ ดังนี้
1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยจำเป็นต้องถามรายละเอียดอาการของผู้ป่วยจากญาติหรือคนใกล้ชิดด้วย
2. ตรวจว่ามีภาวะโรคซึมเศร้าด้วยไหม
3. ทดสอบความจำ
4. ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้ความจำไม่ดีได้ เช่น ตรวจภาวะการทำงานของไทรอยด์ เกลือแร่ สารอาหาร หรือการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของความจำด้อยประสิทธิภาพได้
และหากตรวจกับแพทย์แล้วพบว่ามีอาการสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์จริง ๆ ก็ควรรีบทำการรักษา
อัลไซเมอร์ รักษาอย่างไร
แนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อม สามารถทำได้ ดังนี้
* รักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค
เช่น หากเกิดจากเนื้องอก หรือความผิดปกติของสมองก็อาจต้องรักษาตรงจุดนั้นให้หายดีก่อน ซึ่งจะช่วยให้อาการหลงลืมของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ
* รักษาด้วยยา
ยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่จะเป็นยาปรับสารเคมีในสมอง ที่สามารถชะลออาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบางชนิดได้ แต่ยาจะไม่ช่วยให้อาการของโรคสมองเสื่อมหายขาดซะทีเดียว
* รักษาด้วยการปรับพฤติกรรม
วิธีนี้อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากญาติผู้ป่วยด้วย โดยแพทย์อาจจะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลผู้ป่วย หรืออาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยในบางราย
อัลไซเมอร์ ป้องกันได้ไหม
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคสมองเสื่อมที่ชัดเจนนัก แต่ก็พอมีวิธีการปฏิบัติตัวบางอย่างที่อาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่อันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้า การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
- ฝึกฝนสมองบ่อย ๆ เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ คิดเลข ดูเกมตอบปัญหา ฝึกหัดใช้อุปกรณ์ใหม่ ๆ เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
- เข้าสังคมบ่อย ๆ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ดูแลตัวเองให้ดี พยายามอย่าให้บาดเจ็บ โดยเฉพาะทางสมอง
นอกจากนี้เรายังมีวิธีดูแลสมอง ให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์และอาการขี้ลืมมาฝากด้วย...
- 22 วิธีกระตุ้นสมอง ฟิตเฟิร์มความจำ
- 7 พฤติกรรมป้องกันความจำเสื่อม เลี่ยงอัลไซเมอร์ให้ไกล
- อาหารบำรุงสมองให้ใสปิ๊ง โบกมือลาโรคอัลไซเมอร์ไปได้เลย
คนที่ขี้ลืมบ่อย ๆ ก็ลองเช็กอาการตัวเองดูนะคะ เพราะถ้ามีอาการหลงลืมผิดปกติ ร่วมกับมีอาการเดินเซ ปวดศีรษะ อาเจียน ก็อาจเกิดจากมีความผิดปกติทางสมองเกิดขึ้นกับเราอยู่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, , คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเวชธานี, โรงพยาบาลเปาโล