ช่วงหน้าหนาวนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มออกมาเตือนให้ระวัง PM 2.5 ที่กำลังจะเริ่มกลับมาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้หลายคนเริ่มกลับมาใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นร้ายนี้ เพราะช่วงหน้าหนาวเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูง ทำให้อากาศนิ่ง ฝุ่นควันต่างๆ ไม่สามารถลอยขึ้นสูงได้ จึงอาจเกิดการสะสมในพื้นที่จนเกินค่ามาตรฐานได้
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร
สารตั้งต้นของ PM 2.5 ก่อนจะรวมตัวกับไอน้ำ และฝุ่นควัน คือ ก๊าซพิษ ซึ่งได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) รวมทั้งมีสารพวกโลหะหนัก เช่น ปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิกหรือสารหนู (As) หรือ อาจพบสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ ซึ่งแหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนบน รวมไปถึงหมอกควันพิษข้ามพรมแดน การคมนาคมขนส่ง โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์ อุตสาหกรรมการผลิตสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแม้จะมีค่า PM2.5 น้อยกว่าการเผาในที่โล่งและการคมนาคมขนส่ง แต่กลับมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
งานวิจัยชี้ PM 2.5 อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
ด้วยองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ อาจทำให้การทำงานของปอดแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง ทางเดินหายใจอักเสบจนเกิดอาการภูมิแพ้ และโรคหัวใจ โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
มีงานวิจัยระบุว่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นสะสมในระบบไหลเวียนเลือด ทุก 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สามารถเพิ่มความหนาของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ที่เป็นเส้นทางไปสู่สมองและหัวใจ (carotid intima-medial thickness) ได้ 5.9% ส่งเสริมการตีบหรืออุดตันหลอดเลือดแดงที่หัวใจ สามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจมากถึง 1.24 เท่า และเพิ่มอัตราการตายจากโรคหัวใจ 1.76 เท่า
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัตราการตายเพิ่มขึ้นทุกปี
ปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ สืบเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากในอดีต โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ที่เคร่งเครียดกับการทำงาน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย จนอ้วนหรือลงพุง สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัว (เบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง) และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ (อายุ เพศ และเชื้อชาติ) และเผชิญมลภาวะเช่น ฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันขึ้นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องได้รับยาตลอดชีวิต ถ้าเป็นมากจนมีอาการเจ็บหน้าอก ต้องได้รับการขยายหลอดเลือดแดงโดยใช้บอลลูนหรือในคนไข้บางรายต้องได้รับการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด ดังนั้น การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มี 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
การรักษาหลักคือการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตและการรับประทานยา ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้วต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการพอกตัวของไขมันเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ในกรณีที่มีอาการมาก และ/หรือเส้นเลือดตีบมากทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง คนไข้ต้องได้รับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน
ส่วนในรายที่มีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง มักใช้วิธีการผ่าตัดทำบายพาส โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้ายหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือด เพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือด โดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ
แนวทางการป้องกันฝุ่น PM 2.5
สามารถติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ได้ที่ https://aqicn.org/city/bangkok/ ซึ่งรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ จาก The World Air Quality Index โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหามลภาวะในอากาศ
สำหรับบุคคลที่กังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะสัมผัสกับฝุ่นโดยเฉพาะพื้นที่ๆ มี PM 2.5 หนาแน่นเกินมาตรฐาน แพทย์อาจแนะนำ การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ Calcium Score CT ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยแพทย์สามารถนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละรายได้ เพื่อให้การรักษาแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคหัวใจได้