นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การทำเล็บได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายและยาวนาน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีและวัสดุต่าง ๆ เพื่อช่วยในการประกอบการทำเล็บให้คงทน และสวยงามมากยิ่งขึ้น
>> หมอเตือนภัยสาวต่อเล็บปลอม นิ้วติดเชื้อลามถึงกระดูก เสี่ยงติดเอชไอวีซ้ำ
ทำเล็บ เสี่ยงเล็บเสีย
การทำเล็บอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเล็บตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสีที่เล็บเป็นสีเหลือง แดงส้ม ตามหลังการทาสีเล็บทิ้งไว้โดยไม่ล้างออก หรืออาจพบว่ามีจุดขาวที่เล็บ แม้แต่การแช่เล็บเท้าก็ยังพบว่ามีรายงานการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการต่อเล็บคือการทำให้เล็บมีความยาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อความสวยงาม มีวิธีกระบวนการที่หลากหลาย ดังนั้นก่อนตัดสินใจต่อเล็บควรป้องกันอันตรายที่จะตามมาหลังจากการต่อเล็บ
ต่อเล็บ เสี่ยงเล็บเปราะ-ติดเชื้อ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า การใช้เล็บพลาสติก เพื่อให้เล็บยาวขึ้นจะต้องใช้กาวเพื่อยึดติด ในกาวมักมีสารที่อาจก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสได้ มีรายงานในบางรายพบว่าเกิดอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบหรือหอบหืด พบอาการเล็บเปราะหรือเกิดการแยกเป็นโพรงที่ปลายเล็บ การที่ชั้นของเล็บแยกออกจากกันทำให้โครงสร้างของเล็บไม่สามารถป้องกันเชื้อโรค อาจติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียได้ ส่วนการต่อเล็บโดยใช้อะครีลิค การต่อเล็บชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อที่เล็บในบางรายพบว่าสีของเล็บเปลี่ยนแปลงไป หรือพบมีสะเก็ดขุยที่ใต้เล็บเพิ่มมากขึ้น มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการชาที่ปลายประสาททำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส หรือบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น บริเวณเปลือกตา บางรายมีอาการหอบหืด เป็นต้น
พบร้านทำเล็บไม่ผ่านเกณฑ์หลายร้าน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า จากข้อมูลที่เคยมีการสำรวจเมื่อปี 2557 ของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พบว่าสถานประกอบกิจการไม่ผ่านการประเมินและต้องปรับปรุงคือ พื้น ผนังชำรุดและมีคราบสกปรก อ่างสระผมและเตียงมีคราบสกปรกหรือชำรุด อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น ผ้าคลุมสระผม หวี กรรไกร แปรงม้วนผม ที่แคะเล็บ ตะไบเล็บไม่สะอาด ไม่มีการทำความสะอาดหลังการใช้งานประจำวัน ไม่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค พบการปนเปื้อนเชื้อรา 81 ตัวอย่าง แม้จะเป็นเชื้อราที่ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากผู้รับบริการมีสุขภาพที่อ่อนแอ อาจทำให้เกิดโรคได้ ไม่มีการจัดการขยะที่เป็นอันตราย เช่น ใบมีดโกน ภาชนะบรรจุน้ำยาดัดผม กระป๋องสเปรย์ และที่สำคัญผู้ให้บริการบางรายมีอาการเจ็บป่วยในขณะให้บริการ เช่น ไอ จาม โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยอาจแพร่เชื้อโรคได้ โดยในการตรวจประเมินในครั้งนี้ เจ้าพนักงานกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเสริมความงามทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือให้บ่อยขึ้นหากไม่ปรับปรุงแก้ไขจะใช้มาตรการยึดใบอนุญาต
วิธีทำเล็บให้ปลอดภัย
วิธีสังเกตร้านเสริมสวยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ปลอดภัยในการเข้ารับบริการ