อย่างที่เรารู้กันว่าโรคไข้เลือดออกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และหากรักษาไข้เลือดออกไม่ทันก็เสี่ยงเสียชีวิตได้ แต่นอกจากไข้เลือดออกแล้ว เรายังเสี่ยงมี
เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งวันนี้เราจะพามารู้จักภาวะเกล็ดเลือดต่ำว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วเราจะมีวิธีเพิ่มเกล็ดเลือดได้ไหม
เกล็ดเลือด คืออะไร สำคัญอย่างไร
เกล็ดเลือด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Platelet เกล็ดเลือดคือเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เลือดแข็งเป็นลิ่ม มีหน้าที่สำคัญในการห้ามเลือดเมื่อเนื้อเยื่อเกิดบาดแผล ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือดเวลาถูกของมีคมบาด ดังนั้นหากเกล็ดเลือดต่ำก็อาจทำให้มีปัญหาเลือดออกง่าย หยุดยาก เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วเกล็ดเลือดแต่ละเกล็ดจะมีอายุไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 7-10 วัน เมื่อหมดอายุก็จะถูกกำจัดออกไปเพื่อให้ไขกระดูกสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ ตลอดชีวิต
เกล็ดเลือดต่ำ คือเท่าไร
โดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 150,000-450,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ดังนั้นหากร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะถือว่ามีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งถ้าเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอาการแสดงมาก ทว่าหากเกล็ดเลือดต่ำมาก ๆ ร่างกายจะเริ่มมีความผิดปกติ
เกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
สาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน โดยสามารถจำแนกออกเป็นสาเหตุหลัก ๆ ได้ ดังนี้
1. ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดไม่เพียงพอ อันเกิดจาก...
-
โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ที่ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดได้เพียงพอ
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อันเป็นสาเหตุให้ไขกระดูกและสเต็มเซลล์ของเกล็ดเลือดถูกทำลาย
- โรคทางพันธุกรรม เช่น ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง เป็นต้น
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเดงกี สาเหตุของ
โรคไข้เลือดออก หรือเชื้อไวรัสอีสุกอีใส คางทูม หัดเยอรมัน เป็นต้น
- การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสี หรือการใช้เคมีบำบัด
- การใช้ยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคลอแรมเฟนิคอล หรือยาแอสไพริน เป็นต้น
- การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก
- การได้รับสารเคมีบางชนิด ที่อาจไปขัดขวางการสร้างเกล็ดเลือด เช่น เบนซิน สารกำจัดศัตรูพืช หรือสารหนู เป็นต้น
- พฤติกรรมติดแอลกอฮอล์ ที่จะส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด
2. เกล็ดเลือดถูกทำลายหรือถูกใช้ไปมาก อันเกิดจาก...
- โรคภูมิแพ้ตนเอง ซึ่งแทนที่ภูมิต้านทานจะกำจัดเชื้อไวรัสและเชื้อโรค กลับมาทำลายเกล็ดเลือดแทน ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง และอาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่น
โรคเอสแอลอี (SLE) โรคลูปัส (Lupus)
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
- การติดเชื้อแบคทีเรียในเลือด หรือเชื้อไวรัสชนิดโมโนนิวคลิโอสิส หรือไซโตเมกาโลไวรัส เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ยารักษาโรคมาลาเรีย หรือยาที่ใช้รักษาวัณโรค
- การผ่าตัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกล็ดเลือดถูกใช้ไปสมานแผลเป็นจำนวนมาก
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะพบได้ร้อยละ 5 โดยที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่พบ
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั่วร่างกาย (Thrombotic Thrombocytopenic Purpura)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune Thrombocytopenic Purpura : ITP) เป็นโรคเลือดออกง่ายจากเกล็ดเลือดที่มีจำนวนลดลงอย่างเดียว (isolated thrombocytopenia) จัดเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเกิน พบได้บ่อยทั้งในเด็ก-ผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกง่าย หยุดยาก หากรุนแรงจะมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญซึ่งอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
3. เกล็ดเลือดถูกกักอยู่ในม้ามมากเกินไป
ปกติแล้วม้ามจะเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว และม้ามจะกักเก็บเกล็ดเลือดไว้ประมาณ 1 ใน 3 ของร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีการติดเชื้ออะไรสักอย่าง ม้ามจะกักเก็บเกล็ดเลือดไว้มากขึ้น ทำให้ม้ามโตได้
เกล็ดเลือดต่ำ อาการเป็นอย่างไร
อาการเกล็ดเลือดต่ำที่สังเกตได้ชัด ๆ สามารถเช็กได้จากตรงนี้
* มีรอยช้ำตามตัว เป็นจุดเลือดออกแดง ๆ เล็ก ๆ หรือเป็นจ้ำเลือดตามร่างกายหลายจุด
* หากถูกของมีคมบาด แม้เพียงแผลเล็กนิดเดียว เลือดจะไหลเป็นจำนวนมากและเลือดไม่หยุดไหลง่าย ๆ
* เลือดกำเดาไหลบ่อย
* เลือดออกตามไรฟันบ่อย
* ปัสสาวะเป็นเลือด
* อุจจาระเป็นเลือด
* ประจำเดือนมามากผิดปกติ
* มีภาวะซีด อ่อนเพลียง่าย
* ม้ามโต
* มีภาวะ
ดีซ่าน
เกล็ดเลือดต่ำ อันตรายไหม
ในกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย จากการติดเชื้อหรืออาการป่วยที่ไม่ร้ายแรง อาการอาจไม่รุนแรงและเพียงไม่นานร่างกายจะสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมาทดแทนได้ ทว่าหากเกล็ดเลือดต่ำจากการที่ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มไม่ได้ หรือมีสาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายเรื่อย ๆ จนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในร่างกาย และหากเกล็ดเลือดเหลือน้อยกว่า 20,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็อาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้โดยไม่มีบาดแผล และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับเกล็ดเลือดทดแทน
เกล็ดเลือดต่ำ รักษาได้ไหม
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีวิธีรักษาอยู่ค่ะ โดยแพทย์อาจจะเลือกวิธีรักษาเกล็ดเลือดต่ำ ตามนี้
1. รักษาด้วยยา
แพทย์จะวินิจฉัยจากสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น หากเกิดจากเกล็ดเลือดถูกทำลาย ก็อาจใช้ยาที่ช่วยยับยั้งการทำลายเกล็ดเลือด หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ก็อาจใช้ยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ส่วนในเคสที่ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เหมือนเดิม แพทย์ก็อาจให้ยากระตุ้นให้ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเลือกใช้ยารักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ด้วยค่ะ
2. รักษาด้วยการให้เลือดและเกล็ดเลือด
ในเคสที่ผู้ป่วยมีเลือดออก หรือเสียเลือดมาก แพทย์ก็จะให้เลือดและเกล็ดเลือดเพื่อทดแทนในส่วนที่สูญเสียไป
3. รักษาด้วยการตัดม้าม
กรณีที่ร่างกายมีการทำลายเกล็ดเลือดมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดม้าม เพื่อยับยั้งการทำลายเกล็ดเลือดในร่างกาย
เกล็ดเลือดต่ำ ดูแลตัวเองยังไงดี
หากตรวจพบว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก็ควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากกินยาอะไรอยู่เป็นประจำ ควรแจ้งแพทย์ด้วย เพราะยาบางชนิดอาจมีผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด ซึ่งแพทย์อาจให้เปลี่ยนยา
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก การปะทะแรง ๆ เช่น ฟุตบอล มวย รักบี้ เป็นต้น
- พยายามรักษาเนื้อรักษาตัวให้ห่างไกลจากเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะมีเลือดออกทุกชนิด
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- ออกไปรับแสงแดดตอนเช้าบ้าง เพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น เบนซิน สารหนู หรือสารกำจัดศัตรูพืช
- ควรแจ้งแพทย์ว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก่อนเข้ารับหัตถการใด ๆ เช่น ทำฟัน ฉีดยา หรือผ่าตัด
อาหารเพิ่มเกล็ดเลือด มีอะไรบ้าง ต้องกินอะไรบำรุง
กินอะไรเพิ่มเกล็ดเลือดได้บ้าง เรามาดูกันค่ะ
1. น้ำคั้นใบมะละกอสด
นพ.สมยศ กิตติมั่นคง และ ดร. ทนพ.กิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ในวารสารกรมการแพทย์ ว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกดื่มน้ำคั้นใบมะละกอสดขนาด 30 ซี.ซี. วันละ 2 ครั้ง และพบว่า น้ำคั้นใบมะละกอสดช่วยเพิ่มระดับเกล็ดเลือดได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยวิธีทำใบคั้นใบมะละกอสดให้ใช้ใบมะละกอพันธุ์ใดก็ได้ 1-2 ใบ ล้างให้สะอาด แล้วนำใบมะละกอมาบดละเอียดเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นเติมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อดับความขม แล้วดื่มติดต่อกัน 3-5 วัน
2. ต้นอ่อนข้าวสาลี
งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The International Journal of Universal Pharmacy และ Life Sciences ฉบับปี 2011 พบว่า ต้นอ่อนข้าวสาลีช่วยเพิ่มเกล็ดเลือดได้ และอาจช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบิน และเม็ดเลือดขาว เพราะต้นอ่อนข้าวสาลีอุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีโมเลกุลคล้ายฮีโมโกลบิน
3. ทับทิม
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า ทับทิมช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดได้ เพราะเมล็ดทับทิมอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระสูง มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบในร่างกาย และยังมีสรรพคุณกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกด้วย
-
ประโยชน์ของทับทิม ผลไม้คุณค่าสูงยิ่ง ป้องกันได้หลายโรค
4. น้ำมันปลา
The Thunder Bay Regional Health Center แนะนำให้กินอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้ และการศึกษาหนึ่งก็พบว่า น้ำมันปลา นอกจากจะมีโปรตีนสูงแล้วยังมีสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้ และคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำควรกินน้ำมันปลาเลยล่ะค่ะ
5. ฟักทอง
ฟักทองมีวิตามินเอสูง ซึ่งวิตามินเอมีส่วนช่วยซัพพอร์ตการสร้างเกล็ดเลือด และในฟักทองเองก็มีโปรตีนอยู่พอสมควร ซึ่งก็จะช่วยกันผลักดันการสร้างเกล็ดเลือดของร่างกายด้วย
-
ฟักทอง เต็มเปี่ยมด้วยประโยชน์
6. อาหารที่มีวิตามินซีสูง
วิตามินซีเป็นสารอาหารสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้เช่นกัน
-
10 ผลไม้ให้วิตามินซีสูงปรี๊ด สกัดหวัด เสริมภูมิคุ้มกัน
7. ผักใบเขียว
ผักใบเขียวอย่างคะน้า ผักโขม กวางตุ้ง ผักบุ้ง จะมีวิตามินเคค่อนข้างสูง ซึ่งวิตามินเคมีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือด และอาจช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดได้ด้วย
8. มะขามป้อม
การศึกษาในเรื่องโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ได้ทำการทดลองให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกดื่มน้ำมะขามป้อม และพบว่า น้ำมะขามป้อมมีส่วนช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้ นั่นอาจเป็นเพราะมะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมากก็เป็นได้
การศึกษาหนึ่งพบว่า การรับประทานแครอตและบีทรูตในปริมาณ 1 ถ้วยตวง อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้
- 10 ประโยชน์ของแครอต มีดีที่ต้องทาน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนนะคะ และไม่ควรเน้นรับประทานอาหารเพิ่มเกล็ดเลือดประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะอาหารบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อบางโรคได้เช่นกัน
เกล็ดเลือดต่ำ ป้องกันได้ไหม
แม้ในบางเคสเราจะไม่สามารถป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในอาการของโรคที่เป็นอยู่ แต่ในคนที่ไม่ได้ป่วย ก็สามารถป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ ดังนี้
* พยายามดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก
* รักษาเนื้อรักษาตัวให้พ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่อาจส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือดได้
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะ สารหนู ยาฆ่าแมลง และเบนซิน
* พยายามไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
* รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
* หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากพบว่าเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือมีรอยช้ำไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะไม่อันตรายถึงชีวิต หากเรารู้เท่าทันอาการและเข้ารับการรักษาได้ทัน ดังนั้นอย่าลืมใส่ใจสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วารสารกรมการแพทย์
สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
เฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร