วันที่ 25 ธันวาคม 2562 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยกรณีเมื่อวานนี้ (24 ธันวาคม 2562) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะของกระทรวงการคลัง เป็นกฎหมายลูก กำหนดวิธีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2562
โดยกำหนดให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน ต้องส่งรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร ภายในวันที่ 31 มกราคม 2563
ทั้งนี้ ธุรกรรมที่ต้องรายงาน ประกอบด้วย
1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
ซึ่งหากผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตาม ต้องโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากรายงานเปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวมีกลุ่มที่ถูกจับตา คือ ผู้ประกอบการออนไลน์ หรือกลุ่มค้าขายที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก โดยกรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลการโอนเงินดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากับข้อมูลอื่น เพื่อเรียกเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งพบว่าในปี 2562 สามารถเก็บภาษีจากกลุ่มที่อยู่นอกระบบเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนราย เป็นเงินกว่า 1 พันล้านบาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก