โดยข้อมูลจาก Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ เผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อ 1 วัน หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4-5 ช้อนชา แต่รู้ไหมว่า ในน้ำปลาหวาน 1 ถ้วยที่ใส่กุ้งแห้ง มีโซเดียมสูงถึง 5,900 มิลลิกรัม เท่ากับเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันไปถึง 3 เท่า !!
แน่นอนว่าการทานเค็มมาก ๆ ย่อมไม่ดีต่อร่างกายแน่ ๆ เพราะทำให้ไตขับออกได้ไม่หมด โซเดียมก็จะคั่ง ดึงน้ำไว้ในร่างกายมาก ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เร่งให้ไตเสื่อมลง เกิดภาวะไตวาย และยังทำให้ขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน รวมทั้งโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก ซึ่งโรคเหล่านี้อันตรายถึงชีวิต
ขณะที่ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า ปัจจุบันคนไทยกินเค็มสูงกว่าเกณฑ์ปกติถึง 2 เท่าเลยทีเดียว เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องทานอาหารนอกบ้าน ทานอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป จึงพบผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น แนะนำให้คนติดรสเค็มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อเลี่ยงโรค ซึ่งก็มีหลักปฏิบัติในการลดบริโภคโซเดียมคือ
1. งดการเติมเครื่องปรุง เพราะในเครื่องปรุงรสแทบทุกชนิดมีโซเดียมแฝงอยู่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
2. เลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารสำเร็จรูป, ไส้กรอก, หมูยอ, แหนม, เบคอน, ผักดอง, ผลไม้ดอง, เครื่องจิ้มผลไม้, ปลาเค็ม, ไข่เค็ม, เต้าหู้ยี้ หรือขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
3. ลดการบริโภคเครื่องจิ้มทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มหมูกระทะ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
4. พยายามทำอาหารกินเอง เพราะอาหารตามสั่งหรือร้านอาหารนอกบ้าน มักจะเปี่ยมไปด้วยโซเดียมค่อนข้างสูง จากเครื่องปรุงรสที่โหมใส่กันมา
5. ลด ละ เลิก ขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวชนิดถุงหรือแพ็ก
6. เก็บขวดน้ำปลา และเครื่องจิ้มทั้งหลายให้ไกลหูไกลตา
7. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค
สำหรับมะม่วงน้ำปลาหวาน ถ้าใครน้ำลายสออยากทานจริง ๆ ก็ทานแต่น้อย จิ้มนิดหน่อยให้หายอยาก อย่าเผลอทานเพลินจนหมดถ้วย เพราะการทานมะม่วงครึ่งผล+น้ำปลาหวาน 1 ถ้วยน้ำจิ้ม ให้พลังงานสูงเกือบ 400 กิโลแคลอรี เป็นแบบนี้คงไม่ใช่แค่เสี่ยงป่วยโรคไต แต่ความอ้วนก็ยังถามหาอีกนะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์
กรมอนามัย
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา