โรคปอดอักเสบจัดเป็นโรคที่อันตราย ยิ่งหากไม่รู้สาเหตุว่า
ปอดอักเสบ หรืออาการปอดบวมเกิดจากอะไร อัตราการเสียชีวิตก็จะยิ่งสูงขึ้นไปหากทำการรักษาไม่ทัน ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิต เราอยากให้ทุกคนได้รู้อาการปอดบวม อาการปอดอักเสบเบื้องต้นกันก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดในต่างประเทศ หากใครเพิ่งไปเที่ยวต่างประเทศกลับมา แล้วมีอาการป่วยเกิดขึ้นก็ควรต้องเอะใจ แล้วรีบไปตรวจร่างกายก่อนโรคลุกลาม
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ คืออะไร
ปอดบวม หรือปอดอักเสบ (Pneumonia) คือ โรคติดต่อชนิดเฉียบพลัน จากการอักเสบของเนื้อปอด บริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลม และเนื้อเยื่อรอบถุงลม โดยโรคปอดบวม หรือ ปอดอักเสบจะพบได้ประมาณร้อยละ 8-10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในร่างกาย อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติกับปอดในที่สุด
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ เกิดจากอะไร
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
* การติดเชื้อ
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี ซึ่งพบได้ในระบบทางเดินหายใจ บริเวณช่องโพรงจมูกและลำคอ ผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วยจะเป็นพาหะและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
อย่างไรก็ตามโรคปอดบวม ปอดอักเสบ อาจเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ โรคไซนัส การติดเชื้อในหุชั้นกลาง โรคหัด หรือโรคอีสุกอีใส เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่า 2 วัน ก็มีโอกาสติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบได้
ทั้งนี้ เชื้อโรคมีอยู่รอบตัวเรา รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทั้งตัวแอร์และท่อแอร์ก็มีความชื้นที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา ดังนั้นหากไม่ล้างแอร์นาน ๆ ก็จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อสะสมจนก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ หรือโรคลิเจียนแนร์ได้เหมือนกัน
นอกจากจะพบเชื้อแบคทีเรียลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลาในเครื่องปรับอากาศแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังเคยตรวจเจอเชื้อก่อโรคปอดบวม ปอดอักเสบตัวนี้ในฝักบัว สปา และก๊อกน้ำในโรงแรมด้วยเหมือนกัน แต่ก็นับว่าโชคดีที่ปริมาณเชื้อที่พบยังไม่สูงพอจะก่อโรคในคนได้ ทว่าก็ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่า เชื้อตัวนี้จะไม่ทำอันตรายและก่อโรคปอดอักเสบ ปอดบวมในคน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย แนะนำให้เฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อชนิดนี้ด้วยการดูแลและบำรุงรักษาระบบน้ำ รวมถึงการตรวจสอบเฝ้าระวัง และติดตามผลของการบำรุงรักษาระบบน้ำให้ถูกต้องด้วย
* ภาวะทุพโภชนาการในเด็ก
เด็กแรกเกิด (น้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม) ที่ไม่ได้รับนมแม่ในช่วงอายุ 4 เดือนแรก และได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคหัด อีกทั้งยังสัมผัสกับมลภาวะทางอากาศ เช่น ควันบุรี่ และสภาพสังคมที่แออัด ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ ค่อนข้างสูง
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ติดต่อทางไหน
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ติดต่อได้หลายวิธี ดังนี้
- การสำลักเชื้อบริเวณช่องปาก คอ ลงไปสู่เนื้อปอด
- การหายใจนำเชื้อก่อโรคเข้าสู่ปอดโดยตรง ผ่านทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การไอ จาม ของผู้มีเชื้อ
- เชื้อจากโรคที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแพร่กระจายมาตามกระแสโลหิตเข้าสู่ถุงลม หรือเชื้อโรคจากการอักเสบบริเวณใกล้ปอด ลุกลามเข้าไปยังปอด
- การติดเชื้อผ่านหัตถการของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีเสียก่อน เช่น การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อนเชื้อโรค
ที่ต้องระวังคือ โรคปอดบวมสามารถติดต่อกันได้ตลอดจนกว่าเชื้อโรคจะหมดไปจากน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ปวย และหากเคยป่วยจนรักษาหายแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หากรับเชื้อมาใหม่
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ เกิดกับใครได้บ้าง
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยว่า กลุ่มอายุที่พบว่าป่วยโรคปอดบวม ปอดอักเสบมากที่สุด ได้แก่
- วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ร้อยละ 48
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30
- ผู้ที่มีอายุ 55-64 ปี ร้อยละ 11
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ร้อยละ 11
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ อาการเป็นอย่างไร
ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อส่วนใดด้วย เช่น หากติดเชื้อบริเวณหลอดลม อาจมีอาการไอเป็นอาการเด่น แต่โดยทั่วไปอาการจะคล้ายกับไข้หวัด คือ
1. มีไข้
2. ไอ จาม
3. เจ็บคอ
4. มีเสมหะ
5. เจ็บหน้าอก และเจ็บมากเมื่อหายใจแรง ๆ
6. หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
7. หนาวสั่น
8. เจ็บชายโครง
นอกจากนี้ หากติดเชื้อในเนื้อปอด และมีอาการรุนแรง อาจทำให้ปากเขียว มือเขียว-ม่วง เพราะขาดออกซิเจนได้ด้วย
สำหรับเด็กเล็กอาจมีอาการสังเกตได้ ดังนี้
- ไม่ดูดนม
- ซึม
- หายใจหน้าอกบุ๋ม หรือหายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้ง/นาที
- หยุดหายใจเป็นพัก ๆ
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ อาการรุนแรงขนาดไหน
ความรุนแรงของโรคปอดบวม ปอดอักเสบอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย โรคแทรกซ้อน รวมไปถึงระยะเวลาและความรุนแรงของเชื้อต้นเหตุที่ร่างกายได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม หากรู้เร็วและทำการรักษาโรคปอดบวม ปอดอักเสบได้ทันท่วงที โอกาสที่จะหายจากโรคนี้ก็มีอยู่สูงเช่นกัน
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ รักษาได้ไหม
การรักษาโรคปอดบวม ปอดอักเสบ จะรักษาตามอาการ เช่น ให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่หายใจเหนื่อย หอบ ให้สารน้ำที่เพียงพอ และให้ยาพ่นเพื่อขยายหลอดลม ให้ยาขับเสมหะ พร้อมกับให้ยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด แต่หากอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมในห้องแล็บเพื่อหาเชื้อที่แน่ชัด ซึ่งจะช่วยให้จ่ายยาได้ตรงตามอาการผู้ป่วย และหากอาการไม่รุนแรงมาก ก็อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ทว่าในกรณีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ ก็จำเป็นต้องดูแลอาการที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด
- อายุมากกว่า 65 ปี
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด เบาหวาน ไตวาย และโรคเกี่ยวกับตับ
- ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น หากอาการแย่ลงก็ไม่สามารถบอกใครให้ทราบได้ด้วยตัวเอง
- มีอาการเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอกบ่อย ๆ
- ไม่สามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้
- ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ร่วมกับมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลา
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ ป้องกันอย่างไร
วิธีป้องกันโรคปอดบวม ปอดอักเสบ สามารถทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด
- ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องอยู่ในที่ที่คนเยอะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับบุคคลอื่น
- ล้างมือบ่อย ๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (นิวโมคอคคัส) โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว
- ไม่ควรไปในพื้นที่เสี่ยง ที่มีการระบาดของโรคปอดอักเสบ
- หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากไปเที่ยวต่างประเทศมา ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
เชื้อโรคในอากาศสามารถเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบได้ ยิ่งถ้าเรามีร่างกายที่อ่อนแอ โอกาสในการเกิดโรคปอดบวมและโรคอื่น ๆ ก็จะยิ่งมาก ดังนั้นพยายามดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็จะช่วยให้เชื้อโรคต่าง ๆ มาจู่โจมสุขภาพเราน้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลรามคำแหง
รามาชาแนล
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เฟซบุ๊ก หมอเวร