แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยทั่วไปมีน้ำเป็นส่วนประกอบและต้องใช้สารกันบูดเสมอ เช่น น้ำหอม ครีมบำรุงผิว สบู่ เจลอาบน้ำ แชมพู ครีมนวดผม น้ำยาดัดผม น้ำยาเปลี่ยนสีผม น้ำยาทาเล็บ ยาดับกลิ่น โลชั่นต่างๆ ตลอดจนเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าทุกชนิด รวมถึงครีมกันแดด ทำให้ต้องระวังในการเลือกใช้
โดยสารที่มักทำให้เกิดการแพ้ ได้แก่ สารกันบูด สารให้ความหอม และสารอื่น ๆ ที่ใช้เป็นส่วนผสม ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องศึกษา และทดลองดูให้ดีก่อนใช
วิธีทดสอบเครื่องสำอางก่อนใช้
ทาที่บริเวณหลังหู หรือข้อพับแขนนาน 24 ชั่วโมง เพื่อดูว่าเกิดการแพ้หรือไม่
การแพ้จากการสัมผัส แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1. กลุ่มที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง อาการแพ้ในระดับนี้มักจะไม่อันตรายมากนัก โดยจะสังเกตได้จากการมีผื่นแดง เป็นลมพิษ มีจุดแดงหรือตุ่มน้ำ ใสๆ ขึ้นในจุดที่มีการสัมผัส
2. กลุ่มที่มีอาการแพ้ความรุนแรงปานกลาง ที่พบได้บ่อยที่สุด คืออาการใจสั่น แน่นหน้าอก ทั้งนี้อาจจะมีอาการหายใจติดขัดคล้ายกับอาการหืดหอบได้
3. กลุ่มที่มีอาการแพ้ความรุนแรงสูง อาการแพ้ในกลุ่มนี้อันตรายมาก เกิดจากเครื่องสำอางที่ใส่สารอันตราย ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ตับอักเสบ ไตวาย มะเร็งผิวหนัง หรืออักเสบติดเชื้อจนชีวิตได้
นอกจากนี้ยังมีอาการแพ้เครื่องสำอางที่เกิดจากการได้รับไอระเหย หรือสารที่เราแพ้ มีการปนเปื้อนเข้าไปตามช่องทางเดินอาหารหรือที่เรียกว่าอาการช็อกจากการแพ้ ซึ่งจะทำให้ผู้แพ้เป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ และหยุดหายใจได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ดังกล่าวควรให้ความใส่ใจในการเลือกใช้เครื่องสำอางต่างๆ ตลอดจนมีการทดลองก่อนใช้ทุกครั้ง