ข่าวสาร/สาระน่ารู้

News&Knowledge

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ อั่งเปา และแต๊ะเอีย ต้อนรับวันตรุษจีน 2563

2,021 view(s)
22/01/2020
รายละเอียด

 

               เตรียมรับแต๊ะเอียในวันตรุษจีน 2563 กันหรือยังจ๊ะ ? โดยปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 25 มกราคม น้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่มีเชื้อสายจีนคงแฮปปี้สุด ๆ เพราะนอกจากบรรดาญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันอวยพรปีใหม่แล้ว ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่เด็ก ๆ จะได้รับซองสีแดง ๆ จากญาติผู้ใหญ่ที่หลายบ้านเรียกว่า "อั่งเปา" กันด้วย เอ...แล้วจริง ๆ ต้องเรียก "อั่งเปา" หรือ "แต๊ะเอีย" กันล่ะ แล้วเขามอบให้กันเพื่ออะไร รู้กันไหมคะ
 
             จริง ๆ แล้วสิ่งมงคลที่เราได้รับจากญาติ ๆ จะเรียกว่า "อั่งเปา" หรือ "แต๊ะเอีย" ก็ได้ทั้งนั้นค่ะ แต่ก็มีความแตกต่างกันนิดหน่อย

 

วันตรุษจีน
อั่งเปา
 

               โดยคำว่า "อั่งเปา" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง ซองสีแดง คำว่า อั่ง แปลว่า แดง ส่วนเปา แปลว่า ซอง หรือ กระเป๋า (ภาษาจีนกลางจะเรียกซองแดงว่า "หงเปา") ซึ่งสีแดงถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นมงคล ความมีชีวิตชีวา และความโชคดีของชาวจีนอยู่แล้ว ดังนั้น ชาวจีนมักจะใส่เงิน หรือธนบัตรลงในซองแดง เพื่อนำมามอบให้คนรู้จัก หรืออาจจะแลกเปลี่ยนกันเองในหมู่ญาติพี่น้องก็ได้ โดยปกติแล้ว ชาวจีนจะนิยมมอบ "อั่งเปา" ให้ในวันตรุษจีน วันแต่งงาน หรือในโอกาสเปิดกิจการใหม่ เพื่อเป็นการอวยพร


               มาดู "แต๊ะเอีย" กันบ้าง เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วเช่นกัน โดย "แต๊ะ" แปลว่า ทับ หรือ กด ส่วน "เอีย" แปลว่า เอว เมื่อรวมกัน "แต๊ะเอีย" ก็หมายถึง "ของที่มากดหรือทับเอว" หรือ "ผูกไว้ที่เอว"

          คำนี้มีที่มาจากคนจีนสมัยก่อนจะใช้เงินเหรียญที่มีรูอยู่ตรงกลาง หากจะพกไปไหนก็ต้องร้อยเหรียญเป็นพวงมาผูกไว้ที่เอว และในเทศกาลตรุษจีน ผู้ให้ก็จะนำเชือกสีแดงมาร้อยเหรียญไว้ แล้วมอบให้ผู้รับ ทีนี้ผู้รับก็จะนำพวงเหรียญนี้มาผูกไว้ที่เอว เรียกว่า "แต๊ะเอีย" นั่นเอง ส่วนในปัจจุบันไม่มีการใช้เงินเหรียญที่มีรูตรงกลางแล้ว "แต๊ะเอีย" จึงมีความหมายถึง "สิ่งของ" หรือ "เงิน" ที่ใส่ไว้ในซองสีแดง (ส่วนตัวซองจะเรียกว่า "อั่งเปา")


 

วันตรุษจีน
อั่งเปา
 

               เข้าใจเรื่อง "แต๊ะเอีย" กับ "อั่งเปา" แล้วใช่ไหมคะ แล้วรู้ไหมว่า จริง ๆ แล้ว "แต๊ะเอีย" ก็มีวันหมดอายุนะ เพราะเมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้น มีงานทำ มีเงินเดือนเป็นของตัวเองแล้ว ทีนี้จะไม่ได้รับ "แต๊ะเอีย" แล้วล่ะค่ะ แต่จะต้องเป็นคนให้เงิน "แต๊ะเอีย" กับเด็ก ๆ ในบ้านที่มีอายุน้อยกว่าต่อไป

               นอกจากนั้นแล้ว ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ หรือเจ้านายที่จะให้ "แต๊ะเอีย" หรือ "อั่งเปา" กับเด็ก ๆ หรือลูกน้องได้เท่านั้น แต่ผู้น้อยก็ยังสามารถมอบอั่งเปาให้ผู้อาวุโสกว่าได้เช่นกัน โดยการมอบอั่งเปาให้ผู้อาวุโสกว่า หมายถึง การอวยพรให้ผู้ใหญ่มีสุขภาพดี แข็งแรง อายุยืนยาว

               ส่วนการมอบอั่งเปาให้เด็ก ๆ หมายถึง การอวยพรให้เด็ก ๆ โชคดี มีโชคลาภ เจริญเติบโตแข็งแรง หรือหากผู้ใหญ่มอบอั่งเปาให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว ก็เป็นการอวยพรให้หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า มีสุขภาพแข็งแรง และหากลูก ๆ ที่ทำงานแล้ว หรือแต่งงานไปแล้วมอบอั่งเปาให้พ่อแม่ ก็เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที อวยพรให้พ่อแม่มีอายุยืนยาว ซึ่งการที่ลูก ๆ ให้อั่งเปาพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ให้อั่งเปาลูก ๆ ด้วย จะต้องเป็นเงินของใครของมันเท่านั้น หากลูกให้พ่อแม่แล้ว พ่อแม่นำกลับมาให้ลูกต่ออีกที แบบนี้ไม่ได้ค่ะ

 

อั่งเปา รับวันตรุษจีน
อั่งเปา


               ทีนี้ หลายบ้านอาจจะสงสัยกันว่า ควรจะให้อั่งเปาเป็นเงินเท่าไหรดีนะ ถึงจะเป็นสิริมงคล ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ให้อั่งเปามักจะนิยมใส่จำนวนเงินเป็นเลขคู่ค่ะ เพราะคนจีนถือว่าเลขคู่เป็นเลขมงคล อีกทั้งหมายถึงทวีคูณ โชคสองต่อ โชคสองชั้น แต่จะให้จำนวนเงินเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับรายได้ด้วยเหมือนกันนะ ถ้ารายได้ไม่มาก หรือให้เด็กเล็ก ๆ ก็อาจใส่ซองสัก 200, 400, 800 ถ้ารายได้มาก ให้ผู้ใหญ่ ก็อาจใส่จำนวนมากขึ้นตามแต่กำลังค่ะ

               แต่ถ้าพูดถึงจำนวนที่คนจีนนิยมให้ "แต๊ะเอีย" เลข 8 ดูน่าจะเป็นจำนวนยอดนิยมที่สุด เพราะในภาษาจีนเลข 8 อ่านออกเสียงคล้ายกับคำที่มีความหมายว่า ความร่ำรวย ความรุ่งโรจน์ ความรุ่งเรือง หรืออาจจะให้เป็นจำนวนเลข 2 ซึ่งหมายถึงคู่ก็ได้ ขณะที่บางบ้านก็เลือกให้จำนวนเลข 4 ซึ่งเรียกว่า "ซี่สี่" หมายถึง คู่สี่ เพราะถือเป็นสิริมงคล อย่างเช่น ให้แต๊ะเอีย 400 ก็จะให้เป็นธนบัตร 100 บาท จำนวน 4 ใบ หรือจะให้เป็นสองเท่า หรือสามเท่าของ "ซี่สี่" ก็ได้ เช่น ให้ 800 หรือ 1,200 บาท ก็เป็นสิริมงคลเหมือนกันค่ะ
 

อั่งเปา
Amwish live chat
Uploading...