พอหน้าฝนก็เริ่มเห็นแมลงก้นกระดก ออกอาละวาดและสร้างแผลจากแมลงก้นกระดกทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้ากันซะแล้ว และสำหรับคนที่เคยเจอกับพิษของแมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดกมาก่อน ก็คงรู้สึกเข็ดขยาดไม่อยากจะสัมผัสประสบการณ์ปวดแสบปวดร้อนนั้นอีกครั้งอย่างแน่นอน ส่วนใครที่ไม่เคยพลาดท่าเสียทีแมลงก้นกระดกตัวไหนเลย เรามารู้จักแมลงก้นกระดกเอาไว้ก่อนดีกว่า รู้เท่าทันศัตรูร้ายที่มีพิษอันตราย จะได้ระมัดระวังและป้องกันตัวเองได้อย่างถูกวิธี
แมลงก้นกระดก มาจากไหน
แมลงก้นกระดก (Rove Beetle) หรือในชื่อ ด้วงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน และแมลงเฟรชชี่ จะพบได้มากที่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า โดยเฉพาะในหน้าฝนจะมีการระบาดของแมลงชนิดนี้ในต่างจังหวัด หรือในเมือง และบนตึกสูง ๆ ก็พบได้บ้างเช่นกัน
แมลงก้นกระดก รูปร่างเป็นอย่างไร
แมลงก้นกระดกเป็นแมลงมีปีกขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้ม ปีกมีลักษณะสั้นและแข็ง และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายขึ้น-ลงเมื่อเกาะตัวอยู่กับพื้น เลยได้ชื่อเก๋ ๆ ว่าแมลงก้นกระดกนั่นเองค่ะ
แมลงก้นกระดก ทำไมถึงร้าย
พิษจากแมลงก้นกระดกนี่แหละค่ะที่ร้ายยิ่งนัก โดยของเหลวในร่างกายของแมลงก้นกระดกจะมีสารเพเดอริน (Paederin) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารพิษชนิดนี้สามารถทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อเราสัมผัสโดน แมลงก้นกระดกก็จะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้ปวดร้อน คัน ปวดแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส ทั้งนี้เรามักจะเจอแมลงก้นกระดกในช่วงกลางคืน และแผลแมลงก้นกระดกจะปรากฏหลังสัมผัสพิษของแมลงก้นกระดกไปแล้ว 6-12 ชั่วโมง
แผลจากแมลงก้นกระดกมีลักษณะอย่างไร
เมื่อโดนพิษแมลงก้นกระดกไปประมาณ 6-12 ชั่วโมง เราจะเริ่มมีอาการแสบ คัน บริเวณผิวหนัง ต่อมาก็จะเกิดเป็นผื่นแดงที่มีขอบเขตชัดเจน ลักษณะแผลจากแมลงก้นกระดกจะเป็นแผลรอยแดง หรือเป็นรอยไหม้ในลักษณะเป็นทางยาว ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนอง โดยเฉพาะเกิดเราปัดแมลงก้นกระดกด้วยมือครูดไปตามผิวหนัง พิษของแมลงก้นกระดกก็จะลามไปตามขอบเขตที่โดนผิวหนังเหล่านั้น หรือบางรายอาจจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน เช่น ข้อพับแขน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผื่นแผลที่เกิดจากแมลงก้นกระดกจะตกสะเก็ดและหายได้เองได้ภายใน 1 สัปดาห์โดยประมาณ และเมื่อแผลแมลงก้นกระดกหายแล้วก็อาจจะทิ้งรอยดำสักช่วงหนึ่ง แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็นหรอกนะคะ
ทั้งนี้อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้นอกจากแผลร้อนไหม้ตามผิวหนังแล้ว บางรายก็อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่บริเวณผื่น ทำให้ผื่นหายช้าลง และผื่นอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้ว และสำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หรือหากพิษแมลงก้นกระดกเข้าตาโดยก็อาจเสี่ยงตาบอดได้ ทว่าในเคสอันตรายร้ายแรงขนาดนี้ก็พบได้ไม่บ่อยนัก
แผลจากแมลงก้นกระดก รักษาอย่างไร
หากแมลงก้นกระดกมาสัมผัสตัวเราแล้ว ให้รีบล้างผิวด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสกับแมลงโดยตรง จากนั้นให้คอยสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง หากเกิดรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน ไม่จำเป็นต้องทายาใด ๆ แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ครีมสเตียรอยด์ทาผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้าง หรือแผลไหม้ ก็ควรต้องประคบแผลด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้งจนกระทั่งแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม และการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางรายด้วยค่ะ
วิธีป้องกันตัวเองจากแมลงก้นกระดก
- ห้ามสัมผัสหรือบี้แมลงก้นกระดก ให้ใช้วิธีเป่าหรือใช้อุปกรณ์ปัดออกไปให้พ้นตัวแทนการสัมผัส
- ควรตรวจตราที่นอน หมอน ผ้าห่มให้เรียบร้อยก่อนนอน
- ควรปิดประตู หน้าต่าง ห้องนอนให้มิดชิด โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะในห้องนอน หากไม่จำเป็นก็ควรปิดไฟเอาไว้ เพราะแมลงก้นกระดกชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือนคน
แต่ใครที่ไม่อยากพบอยากเจอแมลงก้นกระดกตัวร้ายเลยสักนิด เรามีวิธีไล่แมลงก้นกระดกไม่ให้มาอยู่ใกล้ตัว น่ากลัวอันตรายด้วยนะคะ มาดูกันเลย
- 10 วิธีไล่แมลงก้นกระดก ภัยร้ายในบ้านที่มาพร้อมหน้าฝน
อ้อ ! และนอกจากจากแมลงก้นกระดกแล้ว สัตว์มีพิษในช่วงหน้าฝนก็ยังมีอีกหลายชนิดที่ควรระมัดระวังพิษจากมันด้วยนะคะ
- 9 สัตว์ที่มากับฝน มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีปฐมพยาบาลและป้องกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข