"ขยะ" ไม่ได้ถูกกำจัดและจบแค่การเอาไปทิ้งลงถังเท่านั้น แต่ยังถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์ หรือกำจัดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น นำไปเป็นวัตถุดิบหรือพลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน หรือ ส่งไปกำจัดโดยการฝังกลบ แต่ทว่าวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการลดขยะที่ปลายเหตุ เพราะวิธีที่จะทำให้จำนวนขยะน้อยลงได้จริง ๆ ก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของทุกคน ซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีขยะเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน
แล้วเราจะช่วยลดขยะได้อย่างไรดี ? คำตอบนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะนำว่า ปัญหานี้จะหมดไป หากทุกคนลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อหลัก 3 ใช้ หรือหลัก 3R การจัดการขยะในบ้านและชุมชน เช่น การนำของเก่าไปบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลนหรือหน่วยงานที่สามารถนำขยะไปรีไซเคิลให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งหากใครกำลังจะโละของเก่าหรือต้องการเคลียร์ขยะออกจากบ้าน วันนี้มี 10 สถานที่เปิดรับบริจาคของเหลือใช้มาแนะนำ ไว้ส่งต่อสิ่งดี ๆ อีกทั้งยังช่วยลดขยะและลดโลกร้อนไปพร้อมกัน
แบบไหนที่เรียกว่าของเหลือใช้ ?
หากรู้สึกรักพี่เสียดายน้อง ของชิ้นนู้นก็ดี ของชิ้นนี้ก็ยังไม่เคยใช้ แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้งาน เป็นสิ่งของหรือวัสดุรอวันกำจัดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ เสื้อผ้ามือสอง ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ฯลฯ นี่แหละคือของเหลือใช้ หากนำไปทิ้งก็จะกลายเป็นขยะธรรมดา แต่ถ้าหากนำมาส่งต่อให้คนอื่นนำกลับมาใช้ใหม่ก็ทำให้เกิดประโยชน์ และกลายเป็นของที่มีคุณค่าได้อีกครั้ง
ส่งต่อของเหลือใช้ดีอย่างไร ?
นอกจากจะเคลียร์บ้านของเราให้สะอาด ไม่รก แถมดูเป็นระเบียบมากขึ้น การส่งต่อสิ่งของ ยังสร้างความสุขทั้งผู้ให้ ได้อิ่มเอมใจไปกับการช่วยเหลือ ส่วนผู้รับเองก็ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ที่สำคัญการนำของกลับไปใช้ซ้ำหรือแปรรูปมาใช้ใหม่ ยังช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แถมยังลดผลกระทบมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน จากการกำจัดขยะ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย
บริจาคของเหลือใช้ที่ไหนได้บ้าง ?
"โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth)" เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชิ้นเล็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำมารีไซเคิลอย่างถูกต้อง ผ่านบริษัทรับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการอนุญาตมาโดยเฉพาะ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากการกำจัดผิดวิธี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
"โครงการ วน (WON)" เกิดขึ้นจากกลุ่มคนในเครือ บมจ.ทีพีบีไอ ที่ต้องการนำพลาสติกมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก โดยทางโครงการได้เปิดรับบริจาคถุงพลาสติกต่าง ๆ ที่แห้งและสะอาด หรือสังเกตง่าย ๆ ว่าเป็นถุงพลาสติกที่ยืดได้ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง ถุงซิปล็อค ถุงขนมปัง ถุงน้ำแข็ง ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก และฟิล์มหุ้มขวดน้ำหรือกล่องนม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก แล้วทำเป็นถุงพลาสติกใช้ซ้ำอีกครั้ง ช่วยลดปริมาณขยะลงนั่นเอง นอกจากนี้ถุงและฟิล์มพลาสติกที่โครงการได้รับ จำนวน 1 กิโลกรัม จะคิดเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ที่อยู่ : "โครงการ วน" บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด(มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210
- เฟซบุ๊ก : Won
3. โครงการพรีเชียสพลาสติกกรุงเทพ
"Precious Plastic Bangkok" มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลแล้ว ยังมีความตั้งใจที่จะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องมลพิษและเห็นพลาสติกเป็นของมีค่ามากกว่านำไปทิ้งเป็นเศษขยะ โดยเปิดรับบริจาคฝาพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถ้วยชาม และกระถางต้นไม้ที่มีความแข็งแรง สวยงาม จากนั้นก็นำไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาจัดเวิร์กช้อปให้ความรู้กับผู้คน รวมถึงติดตั้งเครื่องรีไซเคิลตามชุมชนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ที่อยู่ : Dominic Chakrabongse (Precious Plastic Bangkok) จักรพงษ์วิลล่า 396/1 ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
- เฟซบุ๊ก : Precious Plastic Bangkok
โครงการหลังคาเขียว เป็นโครงการที่รณรงค์ให้ผู้คนคัดแยกและรีไซเคิลขยะกันมากขึ้น จึงเปิดรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มต่าง ๆ มาทำเป็นแผ่นหลังคาขนาด 1x2.4 เมตร ที่แข็งแรง ทนทาน ทนไฟ และปลอดเชื้อรา โดยจะใช้กล่องเครื่องดื่ม ยูเอชที ที่ใช้แล้วประมาณ 2,000 กล่อง ต่อหลังคา 1 แผ่น จากนั้นก็นำไปมอบให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อส่งให้ชุมชนที่ขาดแคลนต่อไป โดยเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ได้ด้วยการบริจาคกล่องนมที่ล้างสะอาดและพับให้แบนเรียบร้อยแล้วที่จุดรับกล่อง ณ ห้างบิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
5. โครงการกรีนโรด Green Road
"Green Road" เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดรับบริจาคถุงขยะพลาสติก ทั้งถุงหูหิ้วและถุงแกงล้างสะอาดที่ใช้แล้ว เพื่อนำมารีไซเคิลด้วยการหลอมละลายรวมกับทราย ทำเป็นบล็อกปูถนน แล้วนำไปส่งต่อตามพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โดยบล็อก 1 ก้อน จะใช้ถุงขยะพลาสติกประมาณ 100 ใบ หรือ 1 กิโลกรัม ถ้าหากใช้ปูถนน 1 ตารางเมตร ต้องใช้อิฐ 40 ก้อน ซึ่งก็เท่ากับขยะถุงพลาสติก 4,000 ใบเลยทีเดียว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ที่อยู่ : ผศ. ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ 22 ซ.7 ถ.หมื่นด้ามพร้าคต ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
- เฟซบุ๊ก : Green Road
- เบอร์โทรศัพท์ : 081-716-2525
6. โครงการผ้าบังสุกุลจีวร จากขวดพลาสติกรีไซเคิล
"โครงการผ้าบังสุกุลจีวร" จากขวดพลาสติกรีไซเคิล มีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดการปัญหาขยะภายในวัดและชุมชน ของพระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง โดยเป็นการเก็บขวดน้ำพลาสติกใส หรือขวดพลาสติก ประเภท Polyethylene Terephthalate (PET) แล้วนำแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล จากนั้นก็ให้จิตอาสาช่วยกันตัดเย็บผสมกับเส้นใยจริงเป็นผ้าไตรหรือผ้าบังสุกุลจีวร พร้อมจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน จนกลายเป็นโครงการใหญ่และเปิดรับขวดพลาสติกใช้แล้วทิ้งจากทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขวดพลาสติกจำนวน 15 ขวด สามารถแปรรูปเป็นเส้นใยทอผ้าไตรจีวรได้ 1 ผืน ถ้าหากอยากทอผ้าไตรจีวรให้ได้ 1 ชุด ต้องใช้ขวดพลาสติก PET จำนวน 60 ขวด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ที่อยู่ : พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ถนนเพชรหึงษ์ ซอย 10 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
- เว็บไซต์ : www.watchakdaeng.com
- เบอร์โทรศัพท์ : 066-159-9558
7. โครงการห้องได้บุญ สภากาชาดไทย
"ห้องได้บุญ สภากาชาดไทย" เป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เปิดรับบริจาคของมือสองหลากหลายชนิดที่มีสภาพดี สะอาด พร้อมใช้งาน และไม่มีวันหมดอายุ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ ของแต่งบ้าน และสิ่งของประดิษฐ์ เป็นต้น โดยสิ่งของชิ้นไหนที่นำไปส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการหรือผู้ด้อยโอกาสไม่ได้ ก็จะจัดจำหน่ายในราคาถูก เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงสภากาชาด รวมถึงใช้ในกิจกรรมด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
8. ร้านปันกัน โดย มูลนิธิยุวพัฒน์
"ร้านปันกัน" เป็นโครงการขายของแนวระดมทุนในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้การดูแลของมูลนิธิยุวพัฒน์ เปิดรับบริจาคของมือสองสภาพดีที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เครื่องเขียน เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ เครื่องดนตรี หนังสือ ตุ๊กตา ของเล่น อุปกรณ์กีฬา และอีกมากมาย เพื่อนำไปส่งต่อและขายต่อ จากนั้นก็นำเงินที่ได้มาเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาส และเป็นทุนเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป โดยสามารถร่วมปันกันได้ทั้ง 13 สาขา และ 2 Pop up store
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
9. โครงการ Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง
"โครงการจิตอาสาสมุดเพื่อน้อง (Paper Ranger)" เป็นโครงการเล็ก ๆ ของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต้องการนำกระดาษใช้แล้วมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 และต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันเปิดรับบริจาคกระดาษ A4 ที่ใช้หน้าเดียวทุกสี ทุกแบบ เพื่อนำมาทำเป็นสมุนทำมือเล่มใหม่ ส่งมอบต่อให้กับเด็กด้อยโอกาสที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและช่วยโลกลดขยะไปในตัว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
"มูลนิธิบ้านกึ่งวิถีหญิง" เป็นสถานคุ้มครองและจัดสวัสดิการให้กับผู้ป่วยจิตเวชหญิง เพื่อปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนออกไปสู่สังคม จึงเปิดรับบริจาคข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับสตรีมากมาย ทั้งชุดชั้นใน ผ้าถุง ผ้าอ้อม กางเกงขาสั้น ที่นอน หมอน ยารักษาโรคผิวหนัง พัดลมอุตสาหกรรม ถังคูลเลอร์ แก้วน้ำสเตนเลส โต๊ะสเตนเลส รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำตัวต่าง ๆ โดยสามารถบริจาคได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ที่อยู่ : สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) จังหวัดปทุมธานี เลขที่ 113 หมู่ 2 ถ.รังสิต-นครนายก ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
- เว็บไซต์ : www.halfwayhomeforwomen.go.th
- เบอร์โทรศัพท์ : 02-577-2898
และนี่คือ10 สถานที่รับบริจาคของเหลือใช้ ที่นอกจากจะช่วยเคลียร์บ้าน ลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน และได้ช่วยเหลือผู้อื่นไปในตัวแล้ว การส่งขยะไปยังแหล่งรีไซเคิลต่าง ๆ ยังเป็นการนำพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย หากพวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ "คิดก่อนทิ้ง คิดก่อนใช้" เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาขยะ และลดโลกได้แน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรมควบคุมมลพิษ
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562