“ขยะ” หรือ สิ่งของเหลือใช้จากชีวิตประจำวันที่รอการกำจัด นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกันมานาน และกําลังเป็นวิกฤตในตอนนี้ ทั้งปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี การทิ้งและแยกขยะที่ไม่ถูกต้องจนไม่สามารถนําขยะกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้เท่าที่ควร และทำให้การกำจัดขยะอย่างถูกต้องเกิดประสิทธิภาพน้อยลงตามไปด้วย สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ หลายคนอาจจะรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว แต่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ควบคุมยาก และจัดการลำบาก ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และการคัดแยกขยะจากครัวเรือนก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดปริมาณขยะ และขยะจะไม่กลายเป็นขยะที่ไร้ค่าหากเราจัดการอย่างถูกวิธี และนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้
แล้วการคัดแยกขยะหรือจัดการขยะให้ถูกวิธีทำอย่างไร ? วันนี้เราจะพาไปดูพร้อม ๆ กันว่าขยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แอบซุกซ่อนอยู่ตรงไหนของบ้านบ้าง แล้วจะทำอย่างไรดีเพื่อทำให้ขยะหรือสิ่งของเหล่านั้นมีค่าอีกครั้ง และไม่กลับไปสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม
ขยะในบ้านมีอยู่แทบทุกมุม ทุกห้อง ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องทำงาน หรือห้องเก็บของ ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ระบุถึงสถานการณ์ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนว่า ในปี 2561 จำนวนขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.64 เนื่องมาจากชุมชนเมืองมีการขยายตัว ประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรกรรมไปสู่สังคมเมือง ประกอบกับมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยในหลายพื้นที่มีแนวโน้มสูงกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ระบุว่า ขยะภายในบ้านหนึ่งหลัง มีมากกว่า 1,400 ชนิดเลยทีเดียว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแค่บ้านหลังเล็ก ๆ จะสามารถสร้างขยะได้มากมายขนาดนี้ ว่าแต่ขยะในบ้านที่ว่านี้มาจากไหนบ้าง
ในห้องนอนอาจจะไม่ได้เป็นบ่อเกิดของขยะโดยตรง แต่ของใช้ต่าง ๆ เมื่อถูกใช้งานและหมดสภาพแล้วก็กลายเป็นขยะดี ๆ นี่เอง ไม่ว่าจะเป็น ที่นอนเก่า หมอนเก่า ที่นอนปิกนิก โต๊ะเครื่องแป้ง ผ้าเช็ดตัวเก่า ตุ๊กตา กรอบรูป หนังสือ นาฬิกาปลุก รวมถึงบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางต่าง ๆ เช่น ขวดน้ำหอม ตลับแป้ง กระป๋องแป้ง และครีมบำรุงผิวที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ซึ่งเรามักจะเห็นคนทิ้งในคลอง กองขยะ ไม่ได้รับการกำจัดที่ถูกต้อง นานวันก็ทับถมอัดแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน
ในห้องน้ำถือเป็นจุดกำเนิดของขยะพลาสติกมากที่สุดในบ้าน เพราะเต็มไปด้วยบรรจุภัณฑ์และหีบห่อต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติกบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้ง หลอดยาสีฟัน ขวดสบู่เหลว ขวดแชมพู ขวดครีมนวดผม ขวดโลชั่น ขวดบรรจุน้ำยาทำความสะอาด ขวดบรรจุน้ำยาฆาเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีกระดาษทิชชู ผ้าเช็ดมือ แปรงสีฟัน หวี มีดโกน รองเท้าแตะ กะละมังซักผ้า แปรงซักผ้าที่หมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพไปตามเวลา
ขยะในห้องครัวส่วนใหญ่มักจะเป็นขยะประเภทอาหาร เช่น เศษผัก เศษอาหาร เปลือกผลไม้ น้ำมันจากการทอดอาหาร และกากไขมันจากบ่อดักไขมัน นอกจากนี้ยังมีภาชนะบรรจุอาหาร เช่น จานพลาสติก ถุงพลาสติก ถุงร้อนใส่แกง ขวดเครื่องปรุงต่าง ๆ ทั้งขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำมันหอย ขวดน้ำปลา ขวดซอส รวมถึงแกลลอนน้ำมัน และเครื่องครัวต่าง ๆ ได้แก่ หม้อ กระทะ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น และเตาแก๊ส ซึ่งเป็นของใช้ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน
ขยะในห้องพระ มาจากของที่นำไปไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เศษเทียนไข น้ำตาเทียน ก้านธูป ซองธูป ดอกไม้แห้ง ดอกไม้พลาสติก ของใช้และของตกแต่งอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งไฟแช็ก แจกัน กรอบรูป โต๊ะ ตู้ และชั้นวางของ รวมไปถึงขยะทีเกิดจากของเซ่นไหว้ เช่น อาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ต่าง ๆ
พื้นที่ส่วนกลางที่มีหลายคนเข้ามาใช้งาน ก็มีขยะเกิดขึ้นมากมายหลายประเภทมากกว่าห้องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะเอกสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ปฏิทิน กล่องกระดาษ ขวดแก้วเครื่องดื่ม นาฬิกา แจกัน อัลบั้มรูป กรอบรูป เศษผ้าขี้ริ้ว ขวดสเปรย์ดับกลิ่น ขยะติดเชื้อจากอุปกรณ์ทำแผล เก้าอี้ โซฟา โคมไฟ ไฟฉาย โทรทัศน์ เครื่องเสียง หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ พัดลม รวมไปถึงของใช้อื่น ๆ ที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน
ประเภทขยะของห้องทำงาน ส่วนมากจะเป็นขยะรีไซเคิลและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กระดาษเอกสาร แฟ้มเอกสาร ซองเอกสาร ถุงชนิดต่าง ๆ รวมถึงเครื่องใช้ในสำนักงานที่จัดอยู่ขยะอันตราย เช่น จอคอมพิวเตอร์ ซีพียู เครื่องปริ้นเตอร์ เครื่องแฟกซ์ เครื่องถ่ายเอกสาร ตลับหมึกพิมพ์ โทรศัพท์ และโทรทัศน์ ซึ่งเป็นของใช้ที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน
ส่วนของที่ชำรุด ที่มีความเสียหาย ผุ ๆ พัง ๆ แต่ยังไม่ได้นำไปกำจัดก็มักจะถูกนำไปเก็บไว้ห้องเก็บของ เช่น กล่องกระดาษ กล่องเครื่องมือ ถังสี ชั้นวางของ โต๊ะ-เก้าอี้พลาสติก ไม้กวาด และไม้ถูพื้น นอกเหนือจากนี้ก็มีเศษไม้ เศษกระเบื้อง ซึ่งอาจจะรวมของใช้ในสวน ทั้ง เครื่องตัดหญ้าเสีย ปั๊มน้ำเสีย และมอเตอร์เก่า รวมไปถึงของใช้ที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน
สำหรับขยะที่มาจากโรงจอดรถส่วนใหญ่ ได้แก่ ซากรถยนต์ อะไหล่รถ ทั้งแผ่นคลัตช์ ลูกปืน ยางใน ยางนอก น้ำมันเบรกเก่า น้ำมันเครื่องเก่า แกลลอนน้ำมัน และแบตเตอร์รีรถเก่า อันเป็นของใช้ที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน
ขยะในสนามหญ้าที่เจอบ่อย ๆ ได้แก่ กิ่งไม้ ใบไม้ ของตกแต่งทั้ง ถังน้ำ บัวรถน้ำ สายยาง รั้ว ประตู เก้าอี้พลาสติก รวมถึงของเล่น เช่น ลูกฟุตบอล ลูกบาส
3R หรือ 3 ใช้ คือการจัดการขยะในบ้านเรือนและชุมชน ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน
ประโยชน์ของการจัดการขยะด้วย 3R นอกจากจะช่วยควบคุมปริมาณการเกิดขยะที่ต้นกำเนิดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและทำให้สามารถนำขยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนจะนำไปกำจัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการการเผาหรือการฝังกลบ แถมยังสามารถนำขยะบางส่วนไปสร้างรายได้ได้อีกด้วย
หลัก 3R ประกอบด้วย Reduce (การใช้น้อยหรือลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle
Reduce
Reduce หมายถึง การใช้น้อยหรือลดการใช้ โดยใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น
ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
จากเดิมที่ใช้ถุงพลาสติกและใช้ได้ไม่กี่ครั้ง ให้เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าที่สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องซื้อใหม่หลาย ๆ ครั้งก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้อีกทางหนึ่ง และตอนนี้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งมีนโยบายให้แต้มเพิ่มกับผู้ที่นำถุงผ้าไปช้อปปิ้ง เพื่อสนับสนุนลดใช้พลาสติก
ใช้แก้วส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก
ประโยชน์การใช้แก้วส่วนตัว นอกจากจะนำมาใช้ซ้ำและช่วยลดการเกิดขยะ เช่น แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้แล้ว บางร้านยังมีส่วนลดให้สำหรับคนที่นำแก้วส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่มอีกด้วย
ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติม (Refill)
การใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติมช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากกว่าปกติ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมทำให้เกิดขยะพลาสติกน้อยกว่า เช่น น้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาปรับผ้านุ่มแบบถุงเติม
ใช้กล่องข้าวแทนกล่องโฟม
แทนที่จะใช้กล่องโฟมหรือถุงพลาสติกในการใส่อาหาร ให้เปลี่ยนมาใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโต ก็จะช่วยลดปริมาณโฟมและพลาสติกที่ย่อยสลายยากลงไปได้มาก ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านอาหารหลายแห่งที่ให้ความสนใจและช่วยสนับสนุน เช่น ให้ส่วนลดกับผู้ที่นำกล่องข้าวไปใส่อาหาร
Reuse
Reuse หมายถึง การนำวัสดุเหลือใช้หรือสิ่งของต่าง ๆ กลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปหรือแปรสภาพ ตัวอย่างเช่น
รียูสวัสดุเหลือใช้ในบ้าน
การนำสิ่งของต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นสิ่งประดิษฐ์ง่าย ๆ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในน้อยลงแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
ใช้กระดาษให้ครบ 2 หน้า
การใช้กระดาษให้ครบทั้งสองหน้าถือเป็นการใช้ซ้ำได้อย่างคุ้มค่า ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำมาทำเป็นกระดาษหน้าที่สาม ด้วยการพิมพ์อักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตาได้อีกด้วย
ใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์จใหม่ได้
การใช้ถ่านที่นำมาชาร์จใหม่ได้ แทนถ่านที่ใช้แล้วทิ้งแบบทั่วไป เป็นการลดปริมาณขยะอันตรายให้น้อยลง แถมยังประหยัดเงินในกระเป๋าไปในตัว
บริจาคเสื้อผ้า
การบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับผู้ที่ต้องการ ถือเป็นการลดปริมาณขยะ ทำให้บ้านเป็นระเบียบ แถมยังได้บุญอีกด้วย
Recycle
Recycle หมายถึง การนำวัสดุเหลือใช้หรือขยะรีไซเคิลไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งลดปริมาณขยะไปด้วย ตัวอย่างเช่น
การนำกระป๋องมาหลอมเป็นขาเทียม
แทนที่จะโยนกระป๋องอะลูมิเนียมทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ก็สามารถส่งต่อ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นขาเทียมให้กับผู้พิการได้
นำกล่องเครื่องดื่มมาทำตะกร้า
กล่องเครื่องดื่มประเภทกล่อง UHT เช่น กล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ สามารถส่งต่อ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นตะกร้าเอาไว้ใช้งานได้
นำกระดาษมาทำกล่องทิชชู
กระดาษสีหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ สามารถนำมาแปรรูป เพื่อประดิษฐ์เป็นกล่องทิชชูเอาไว้ใช้งานและสร้างรายได้อีกช่องทาง
นำขวดพลาสติกใสมาแปรรูปเป็นเสื้อ
แทนที่จะทิ้งขวดน้ำพลาสติก (PET) ก็สามารถส่งต่อ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเสื้อใหม่ได้
แม้ขยะจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกที่ในบ้าน แต่การกำจัดก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยเริ่มต้นที่ตัวเรา ก็ช่วยลดปริมาณขยะและให้โลกกลับมาสะอาด สวยงาม น่าอยู่ แถมช่วยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม