ในปัจจุบันมีแนวโน้มในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีโอกาสที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจต่ออาการจะช่วยลดความเสี่ยงและลดการสูญเสียได้เป็นอย่างมาก
ภาวะหัวใจล้มเหลว คือกลุ่มอาการที่เกิดจากหัวใจทำงานสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ หรือเกิดจากโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จนทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งลักษณะอาการจะต่างกันไปในแต่ละอวัยวะที่มีการไหลเวียนเลือดที่ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่ไม่ค่อยส่งสัญญาณอาการของโรคมากนัก ดังนั้น การสังเกตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ดังนี้
1. เริ่มหายใจติดขัด หายใจไม่ออก
2. มีอาการไอเรื้อรัง หรือมีเสียงขณะหายใจ
3. มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียได้ง่ายอย่างผิดปกติ
4. ขาดความรู้สึกอยากอาหาร หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
5. มีความรู้สึกสับสน มีความบกพร่องด้านการคิดวิเคราะห์
6. หัวใจเต้นเร็วขึ้น
หากมีอาการ "ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป" แม้ว่าจะยังไม่เคยเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีการหลีกเลี่ยงจากภาวะหัวใจล้มเหลว
ทำได้โดยการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต อาทิ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์และการควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการลดความเครียด ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวก็ควรให้การดูแลผู้ป่วยทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างใกล้ชิด