ข่าวสาร/สาระน่ารู้

News&Knowledge

คู่มือมนุษย์เงินเดือน ! ลาออกจากงาน...ต้องทำยังไงกับประกันสังคม

1,695 view(s)
18/01/2020
รายละเอียด
การลาออก เป็นเรื่องปกติของการทำงาน แต่เชื่อว่าคงมีหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายคนสงสัยว่า หากเราเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม (มาตรา 33) เมื่อตัดสินใจลาออกจากงานแล้ว เราจะต้องดำเนินการอะไรกับประกันสังคมหรือไม่ แล้วมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยอะไรไหม หรือสิทธิอื่น ๆ ที่เคยได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล จะยังคงได้รับเหมือนเดิมหรือเปล่า 

          วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงได้สรุปคู่มือง่าย ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่กำลังจะลาออก ว่าต้องจัดการยังไงบ้างกับสิทธิประกันสังคมของตัวเอง

แจ้งประกันสังคม เพื่อรับเงินชดเชยว่างงาน 
 

          เมื่อลาออกจากงานแล้ว ในช่วงที่ยังไม่มีงานใหม่ทำ เราสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชย ได้ตามขั้นตอน ดังนี้ 
 
          1. ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน 
 
          สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านอินเทอร์เน็ต ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานจัดหางาน empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออก ถ้าเกินกำหนดจะไม่สามารถใช้สิทธิย้อนหลังได้ 
 
ประกันสังคม
 
          2. ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
 
          จากนั้นให้ยื่นเพื่อขอรับสิทธิเงินทดแทนกรณีว่างงาน ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) โดยแนบหลักฐาน ดังนี้ 
 
          • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
 
          • หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09) 
 
          • หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
 
          • หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย กรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
 
          • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, ทหารไทย, ธนชาต, ซีไอเอ็มบี ไทย, อิสลามแห่งประเทศไทย, ออมสิน และ ธ.ก.ส.
 
          3. รายงานตัวทุกเดือนกับสำนักงานจัดหางาน
 
          เราต้องรายงานตัวอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อรับเงินว่างงาน ผ่านเว็บไซต์สำนักจัดหางาน empui.doe.go.th ตามกำหนดเวลาในแต่ละเดือน แจ้งล่วงหน้าได้ 7 วัน ก่อนถึงกำหนด โดยเงินที่ได้รับแต่ละเดือนจะโอนเข้าบัญชีที่เรายื่นเรื่องไว้ ภายใน 7-10 วันทำการนับจากวันที่อนุมัติและรายงานตัว (ไม่รวมวันหยุดราชการ)

ลาออกจากงาน ประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยเท่าไร ?
 
          กรณีลาออกจากงานเองโดยสมัครใจ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนว่างงาน ไม่เกินปีละ 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย (คิดจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำ 1,650 บาท/เดือน และฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท/เดือน) เช่น 
          - เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน
          - เงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 4,500 บาท (คิดจากฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน

 
          แต่ถ้าเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน ไม่เกินปีละ 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น 
          - เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
          - เงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เดือนละ 7,500 บาท (คิดจากฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท) เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
 
          ทั้งนี้ คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป ที่สำคัญคือ ต้องไม่ถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ 
          - ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
          - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
          - ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
          - ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
          - ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
          - ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
          - ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ


ลาออกแล้ว สิทธิประกันสังคม จะเป็นอย่างไร 
         
          แม้จะลาออกจากงานประจำและไม่ได้ส่งเงินสมทบแล้ว ผู้ประกันตนจะยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่าง ๆ ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ได้เหมือนเดิมต่ออีก 6 เดือน หลังจากลาออก 

          ทว่าหากพ้น 6 เดือน เรายังไม่ได้เริ่มทำงานกับบริษัทใหม่ หรือได้เปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระแล้ว ก็จะทำให้สิทธิการเป็นผู้ประกัน มาตรา 33 หมดลง ทำให้เราต้องตัดสินใจใน 2 ทางเลือก ดังนี้ 
 
          1. สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 
 
          หากยังอยากอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป สามารถย้ายมาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 แทนได้ แต่ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และยื่นคำขอผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน 

          โดยผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน โดยรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
 
 
          2. ออกจากประกันสังคมไปเลย
 
          หากเราไม่ทำอะไรต่อจากนี้ สิทธิประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยและว่างงานก็จะขาดโดยอัตโนมัติ หากเจ็บป่วยอะไรขึ้นมา ก็จะต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง แทน
 
          ส่วนเงินชราภาพที่มีอยู่ จะได้รับก็ต่อเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องทำเรื่องภายใน 1 ปี หลังเกษียณ ห้ามเกินแม้แต่วันเดียว สำหรับเงินที่ได้จะแบ่งเป็น 2 แบบ ตามระยะเวลาที่ส่งสมทบ คือ
 
          - จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จ 
          - จ่ายเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน


          อ่านเพิ่มเติม - เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ขอคืนได้เมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์บ้าง ?
 
ประกันสังคม
 
          อย่างไรก็ตาม หากเรากลับมาทำงานประจำใหม่ สิทธิประกันสังคม มาตรา 33 จะกลับมาได้อีกครั้ง โดยนายจ้างจะเป็นผู้ยื่นเรื่องดำเนินการกับประกันสังคมเอง ซึ่งเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพของเดิมจะยังคงอยู่และสะสมเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้เริ่มนับหนึ่งใหม่  


          ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิทธิประกันสังคมที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรรู้ และทำความเข้าใจให้พร้อมก่อนลาออก โดยหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Amwish live chat
Uploading...