ข่าวสาร/สาระน่ารู้

News&Knowledge

ขยะมีค่า ! 10 สถานที่รับบริจาคของเหลือใช้ ลดของเสีย-ลดโลกร้อน

2,171 view(s)
30/01/2020
รายละเอียด

"ขยะ" ไม่ได้ถูกกำจัดและจบแค่การเอาไปทิ้งลงถังเท่านั้น แต่ยังถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์ หรือกำจัดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น นำไปเป็นวัตถุดิบหรือพลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน หรือ ส่งไปกำจัดโดยการฝังกลบ แต่ทว่าวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการลดขยะที่ปลายเหตุ เพราะวิธีที่จะทำให้จำนวนขยะน้อยลงได้จริง ๆ ก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของทุกคน ซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีขยะเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน

แล้วเราจะช่วยลดขยะได้อย่างไรดี ? คำตอบนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะนำว่า ปัญหานี้จะหมดไป หากทุกคนลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อหลัก 3 ใช้ หรือหลัก 3R การจัดการขยะในบ้านและชุมชน เช่น การนำของเก่าไปบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลนหรือหน่วยงานที่สามารถนำขยะไปรีไซเคิลให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งหากใครกำลังจะโละของเก่าหรือต้องการเคลียร์ขยะออกจากบ้าน วันนี้มี 10 สถานที่เปิดรับบริจาคของเหลือใช้มาแนะนำ ไว้ส่งต่อสิ่งดี ๆ อีกทั้งยังช่วยลดขยะและลดโลกร้อนไปพร้อมกัน

แบบไหนที่เรียกว่าของเหลือใช้ ?

 

 

หากรู้สึกรักพี่เสียดายน้อง ของชิ้นนู้นก็ดี ของชิ้นนี้ก็ยังไม่เคยใช้ แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้งาน เป็นสิ่งของหรือวัสดุรอวันกำจัดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ เสื้อผ้ามือสอง ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ฯลฯ นี่แหละคือของเหลือใช้ หากนำไปทิ้งก็จะกลายเป็นขยะธรรมดา แต่ถ้าหากนำมาส่งต่อให้คนอื่นนำกลับมาใช้ใหม่ก็ทำให้เกิดประโยชน์ และกลายเป็นของที่มีคุณค่าได้อีกครั้ง

ส่งต่อของเหลือใช้ดีอย่างไร ?

 

 

นอกจากจะเคลียร์บ้านของเราให้สะอาด ไม่รก แถมดูเป็นระเบียบมากขึ้น การส่งต่อสิ่งของ ยังสร้างความสุขทั้งผู้ให้ ได้อิ่มเอมใจไปกับการช่วยเหลือ ส่วนผู้รับเองก็ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ที่สำคัญการนำของกลับไปใช้ซ้ำหรือแปรรูปมาใช้ใหม่ ยังช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แถมยังลดผลกระทบมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน จากการกำจัดขยะ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

บริจาคของเหลือใช้ที่ไหนได้บ้าง ?

1. โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก

"โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth)" เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชิ้นเล็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำมารีไซเคิลอย่างถูกต้อง ผ่านบริษัทรับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการอนุญาตมาโดยเฉพาะ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากการกำจัดผิดวิธี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ชั้น 8 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซ.จุฬาฯ 12 ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
  • เว็บไซต์ : www.hsm.chula.ac.th
  • เฟซบุ๊ก : โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth)
  • เบอร์โทรศัพท์: 02-218-3959

2. โครงการ วน (Won)

 

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Won

"โครงการ วน (WON)" เกิดขึ้นจากกลุ่มคนในเครือ บมจ.ทีพีบีไอ ที่ต้องการนำพลาสติกมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก โดยทางโครงการได้เปิดรับบริจาคถุงพลาสติกต่าง ๆ ที่แห้งและสะอาด หรือสังเกตง่าย ๆ ว่าเป็นถุงพลาสติกที่ยืดได้ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง ถุงซิปล็อค ถุงขนมปัง ถุงน้ำแข็ง ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก และฟิล์มหุ้มขวดน้ำหรือกล่องนม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก แล้วทำเป็นถุงพลาสติกใช้ซ้ำอีกครั้ง ช่วยลดปริมาณขยะลงนั่นเอง นอกจากนี้ถุงและฟิล์มพลาสติกที่โครงการได้รับ จำนวน 1 กิโลกรัม จะคิดเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : "โครงการ วน" บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด(มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210
  • เฟซบุ๊ก : Won

3. โครงการพรีเชียสพลาสติกกรุงเทพ

 

"Precious Plastic Bangkok" มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลแล้ว ยังมีความตั้งใจที่จะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องมลพิษและเห็นพลาสติกเป็นของมีค่ามากกว่านำไปทิ้งเป็นเศษขยะ โดยเปิดรับบริจาคฝาพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถ้วยชาม และกระถางต้นไม้ที่มีความแข็งแรง สวยงาม จากนั้นก็นำไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาจัดเวิร์กช้อปให้ความรู้กับผู้คน รวมถึงติดตั้งเครื่องรีไซเคิลตามชุมชนต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : Dominic Chakrabongse (Precious Plastic Bangkok) จักรพงษ์วิลล่า 396/1 ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
  • เฟซบุ๊ก : Precious Plastic Bangkok

4. โครงการหลังคาเขียว

 

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก greenroof

โครงการหลังคาเขียว เป็นโครงการที่รณรงค์ให้ผู้คนคัดแยกและรีไซเคิลขยะกันมากขึ้น จึงเปิดรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มต่าง ๆ มาทำเป็นแผ่นหลังคาขนาด 1x2.4 เมตร ที่แข็งแรง ทนทาน ทนไฟ และปลอดเชื้อรา โดยจะใช้กล่องเครื่องดื่ม ยูเอชที ที่ใช้แล้วประมาณ 2,000 กล่อง ต่อหลังคา 1 แผ่น จากนั้นก็นำไปมอบให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อส่งให้ชุมชนที่ขาดแคลนต่อไป โดยเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ได้ด้วยการบริจาคกล่องนมที่ล้างสะอาดและพับให้แบนเรียบร้อยแล้วที่จุดรับกล่อง ณ ห้างบิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • เว็บไซต์ : www.tetrapak.com
  • เฟซบุ๊ก : greenroof
  • เบอร์โทรศัพท์ : 02-747-8881

5. โครงการกรีนโรด Green Road

 

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก GREEN ROAD

"Green Road" เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดรับบริจาคถุงขยะพลาสติก ทั้งถุงหูหิ้วและถุงแกงล้างสะอาดที่ใช้แล้ว เพื่อนำมารีไซเคิลด้วยการหลอมละลายรวมกับทราย ทำเป็นบล็อกปูถนน แล้วนำไปส่งต่อตามพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โดยบล็อก 1 ก้อน จะใช้ถุงขยะพลาสติกประมาณ 100 ใบ หรือ 1 กิโลกรัม ถ้าหากใช้ปูถนน 1 ตารางเมตร ต้องใช้อิฐ 40 ก้อน ซึ่งก็เท่ากับขยะถุงพลาสติก 4,000 ใบเลยทีเดียว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : ผศ. ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ 22 ซ.7 ถ.หมื่นด้ามพร้าคต ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
  • เฟซบุ๊ก : Green Road
  • เบอร์โทรศัพท์ : 081-716-2525

6. โครงการผ้าบังสุกุลจีวร จากขวดพลาสติกรีไซเคิล

 

ข้อมูลจากวัดจากแดง

"โครงการผ้าบังสุกุลจีวร" จากขวดพลาสติกรีไซเคิล มีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดการปัญหาขยะภายในวัดและชุมชน ของพระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง โดยเป็นการเก็บขวดน้ำพลาสติกใส หรือขวดพลาสติก ประเภท Polyethylene Terephthalate (PET) แล้วนำแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล จากนั้นก็ให้จิตอาสาช่วยกันตัดเย็บผสมกับเส้นใยจริงเป็นผ้าไตรหรือผ้าบังสุกุลจีวร พร้อมจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน จนกลายเป็นโครงการใหญ่และเปิดรับขวดพลาสติกใช้แล้วทิ้งจากทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขวดพลาสติกจำนวน 15 ขวด สามารถแปรรูปเป็นเส้นใยทอผ้าไตรจีวรได้ 1 ผืน ถ้าหากอยากทอผ้าไตรจีวรให้ได้ 1 ชุด ต้องใช้ขวดพลาสติก PET จำนวน 60 ขวด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ถนนเพชรหึงษ์ ซอย 10 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
  • เว็บไซต์ : www.watchakdaeng.com
  • เบอร์โทรศัพท์ : 066-159-9558

7. โครงการห้องได้บุญ สภากาชาดไทย

"ห้องได้บุญ สภากาชาดไทย" เป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เปิดรับบริจาคของมือสองหลากหลายชนิดที่มีสภาพดี สะอาด พร้อมใช้งาน และไม่มีวันหมดอายุ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ ของแต่งบ้าน และสิ่งของประดิษฐ์ เป็นต้น โดยสิ่งของชิ้นไหนที่นำไปส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการหรือผู้ด้อยโอกาสไม่ได้ ก็จะจัดจำหน่ายในราคาถูก เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงสภากาชาด รวมถึงใช้ในกิจกรรมด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : "ห้องได้บุญ" สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ตึกอำนวยนรธรรม ชั้น 1 เลขที่ 1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุ่มวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
  • เว็บไซต์ : www.redcrossfundraising.org
  • เฟซบุ๊ก : ห้องได้บุญ สภากาชาดไทย
  • เบอร์โทรศัพท์ : 02-256-4622

8. ร้านปันกัน โดย มูลนิธิยุวพัฒน์

"ร้านปันกัน" เป็นโครงการขายของแนวระดมทุนในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้การดูแลของมูลนิธิยุวพัฒน์ เปิดรับบริจาคของมือสองสภาพดีที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เครื่องเขียน เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ เครื่องดนตรี หนังสือ ตุ๊กตา ของเล่น อุปกรณ์กีฬา และอีกมากมาย เพื่อนำไปส่งต่อและขายต่อ จากนั้นก็นำเงินที่ได้มาเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาส และเป็นทุนเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป โดยสามารถร่วมปันกันได้ทั้ง 13 สาขา และ 2 Pop up store

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

9. โครงการ Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง

"โครงการจิตอาสาสมุดเพื่อน้อง (Paper Ranger)" เป็นโครงการเล็ก ๆ ของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต้องการนำกระดาษใช้แล้วมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 และต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันเปิดรับบริจาคกระดาษ A4 ที่ใช้หน้าเดียวทุกสี ทุกแบบ เพื่อนำมาทำเป็นสมุนทำมือเล่มใหม่ ส่งมอบต่อให้กับเด็กด้อยโอกาสที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและช่วยโลกลดขยะไปในตัว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

10. บ้านกึ่งวิถีหญิง

 

"มูลนิธิบ้านกึ่งวิถีหญิง" เป็นสถานคุ้มครองและจัดสวัสดิการให้กับผู้ป่วยจิตเวชหญิง เพื่อปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนออกไปสู่สังคม จึงเปิดรับบริจาคข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับสตรีมากมาย ทั้งชุดชั้นใน ผ้าถุง ผ้าอ้อม กางเกงขาสั้น ที่นอน หมอน ยารักษาโรคผิวหนัง พัดลมอุตสาหกรรม ถังคูลเลอร์ แก้วน้ำสเตนเลส โต๊ะสเตนเลส รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำตัวต่าง ๆ โดยสามารถบริจาคได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • ที่อยู่ : สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (หญิง) จังหวัดปทุมธานี เลขที่ 113 หมู่ 2 ถ.รังสิต-นครนายก ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
  • เว็บไซต์ : www.halfwayhomeforwomen.go.th
  • เบอร์โทรศัพท์ : 02-577-2898

และนี่คือ10 สถานที่รับบริจาคของเหลือใช้ ที่นอกจากจะช่วยเคลียร์บ้าน ลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน และได้ช่วยเหลือผู้อื่นไปในตัวแล้ว การส่งขยะไปยังแหล่งรีไซเคิลต่าง ๆ ยังเป็นการนำพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย หากพวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ "คิดก่อนทิ้ง คิดก่อนใช้" เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาขยะ และลดโลกได้แน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กรมควบคุมมลพิษ
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

 

 
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
Amwish live chat
Uploading...